รมว.ยุติธรรม ร่วมเวทียาเสพติดอาเซียน โชว์ผลงานยึดทรัพย์ 7 พันล้าน-ประมวลกฎหมายใหม่

รมว.ยุติธรรม ร่วมเวทียาเสพติดอาเซียน โชว์ผลยึดทรัพย์ 7 พันล้าน-ประมวลกฎหมายใหม่ ยันในที่ประชุมพร้อมสกัดกั้นการลำเลียงทุกช่องทาง ขอทุกประเทศร่วมมือใกล้ชิด ให้บรรลุเป้าหมาย Drug Free ASEAN ชาติสมาชิกชื่นชมแนวทางการทำงาน-ความร่วมมือกับเพื่อนบ้าน

ที่ สำนักงาน ป.ป.ส. ดินแดง นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม พร้อมด้วย น.ส.ณัฐธ์ภัสส์ ยงใจยุทธ ผู้ช่วย รมว.ยุติธรรม นายธนวัชร นิติกาญจนา ที่ปรึกษา รมว.ยุติธรรม และนายวิชัย ไชยมงคล เลขาธิการ ป.ป.ส. ร่วมการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านยาเสพติด ครั้งที่ 7 (AMMD) ในรูปแบบการประชุมผ่านระบบการประชุมทางไกล ซึ่งเจ้าภาพจัดการประชุม คือ ประเทศกัมพูชา โดยสํานักงานคณะกรรมการต่อสู้ยาเสพติดแห่งชาติกัมพูชา (NACD) 

โดยมีตัวแทนจากประเทศที่เข้าร่วมการประชุม คือ พล.อ. แก กึม ยาน รองนายกรัฐมนตรีและประธาน NACD กัมพูชา ,พล.อ. จวน สุวรรณ รองประธาน NACD กัมพูชา ,ดาโต๊ะพาดูก้า เซรี ฮาจี อวัง ฮัลบี บิน ฮาจี มูฮาหมัด ยูซบ รมว.กลาโหม และประธานคณะกรรมการความมั่นคงแห่งชาติ กระทรวงกลาโหม บรูไน ,พล.ต.อ.อาร์ เพตรัส อาร์ โกลูส หัวหน้าคณะกรรมการยาเสพติดแห่งสาธารณรัฐอินโดนีเซีย ,พล.ต.ต.คำกิ่ง ผุยหล้ามะนีวง หัวหน้ากรมใหญ่ตำรวจ กระทรวงป้องกันความสงบ สปป.ลาว ,ดาโต๊ะโจนาธาน บิน ยาซิน รองรมว.มหาดไทย มาเลเซีย ,พล.ท. ตาน ไหลค์ รมช.มหาดไทย และผบ.ตร.เมียนมา ,นายเดสมอนด์ ทาน ก็ก หมิง รัฐมนตรีแห่งรัฐ กระทรวงมหาดไทยและกระทรวงความยั่งยืนและสิ่งแวดล้อม สิงคโปร์ ,นายกิลแบร์โต้ เดอลา ครูซ ครูซ หน่วยงานกลางด้านยาเสพติดของฟิลิปปินส์ ,พล.อ.โต เลิม รัฐมนตรีกระทรวงความมั่นคงสาธารณะ เวียดนาม และนายโรเบิร์ต มาเทียส ไมเคิล เทเน่ รองเลขาธิการอาเซียนด้านการเมืองและความมั่นคง

ซึ่งวัตถุของการประชุมในครั้งนี้ เพื่อกํากับติดตามผลการดําเนินงานด้านยาเสพติดของประเทศอาเซียนตามมติการประชุม ระดับรัฐมนตรีครั้งที่ผ่านมา และประเด็นที่ยังคงค้าง หรือประเด็น แผนงาน โครงการที่ต้องได้รับการรับรองจากการประชุมระดับรัฐมนตรีฯ รวมทั้งการรายงานผลการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสอาเซียนด้านยาเสพติด และเพื่อให้รัฐมนตรีของประเทศสมาชิกอาเซียนได้แสดงวิสัยทัศน์ บทบาทและเจตจํานงที่จะดําเนินงาน โครงการกิจกรรม ของอาเซียนให้เป็นรูปธรรมที่ชัดเจน และเกิดผลเป็นที่ประจักษ์ในการแก้ปัญหายาเสพติด โดยยึดหลักการการเป็นหนึ่งเดียวของอาเซียนในการแก้ไขปัญหายาเสพติด เพื่อกําหนดนโยบายและแนวทางความร่วมมือในการแก้ไขปัญหายาเสพติดในอนาคตของภูมิภาคอาเซียน

นายสมศักดิ์ กล่าวว่า ในระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา ประเทศไทยประสบปัญหายาเสพติดที่เพิ่มสูงขึ้น จากการลักลอบผลิตยาเสพติดและการรั่วไหลของการลักลอบนำเข้าเคมีภัณฑ์สารตั้งต้นเข้าไปในพื้นที่สามเหลี่ยมทองคำ ทำให้ประเทศไทยกลายเป็นทางผ่านในการลักลอบขนยาเสพติดไปยังประเทศอื่น ปัญหานี้จึงมิใช่แค่ปัญหาของประเทศไทยเพียงประเทศเดียว แต่ถือว่าเป็นปัญหาของโลกที่พวกเราจะต้องร่วมมือกันแก้ไข ขณะนี้ประเทศไทยได้จัดทำประมวลกฎหมายยาเสพติดฉบับใหม่และได้ผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภาแล้ว มีประเด็นที่สำคัญ ได้แก่ การปรับอัตราโทษให้เหมาะสมกับฐานความผิด การยึดทรัพย์สินจากนักค้ายาเสพติด กำหนดแนวทางการดำเนินงานเพื่อปรับปรุงแนวทางการบำบัดรักษาผู้ติดยาเสพติตและการควบคุมสารตั้งต้นและเคมีภัณฑ์อีกด้วย สอดคล้องกับพันธกรณีตามมติที่ประชุมสมัชชาสหประชาชาติสมัยพิเศษว่าด้วยปัญหายาเสพติดโลก(UNGASS 2016) ประเทศไทยได้เริ่มดำเนินงานด้านการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดให้สอดคล้องกับประมวลกฎหมายยาเสพติดฉบับปัจจุบัน ให้ความสำคัญกับการตัดวงจรทางการเงิน โดยกำหนดเป้าหมายยึดทรัพย์สิน 6,000 ล้านบาท เพื่อตัดวงจรตัวการหรือนายทุนใหญ่การค้ายาเสพติดได้อย่างเด็ดขาดและถาวร ในหนึ่งปีที่ผ่านมาประเทศไทยสามารถยึดทรัพย์ได้กว่า 7,000 ล้านบาทและนำหลัก Value based มาใช้เพื่อให้สามารถติดตามยึดทรัพย์ได้มากยิ่งขึ้น 

นายสมศักดิ์ กล่าวอีกว่า ส่วนการบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติด มุ่งเน้นระบบการบำบัดแบบสมัครใจและการมีส่วนร่วมของชุมชน โดยไม่มีการบันทึกประวัติความผิด อีกทั้งมีกระบวนการให้ความรู้เกี่ยวกับยาเสพติดและการเตรียมความพร้อมของผู้ติดยาเสพติดก่อนกลับเข้าสู่สังคม ส่วนการสกัดกั้นสารตั้งต้นและเคมีภัณฑ์ไม่ให้เข้าสู่พื้นที่สามเหลี่ยมทองคำ ในหลายปีที่ผ่านมา ประเทศไทยดำเนินการสกัดกั้นยาเสพติดผ่านกลไกและความร่วมมือระหว่างประเทศต่างๆ ในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ซึ่งการพัฒนากลไก ระบบและการเสริมสร้างความสามารถของผู้ปฏิบัติงาน เป็นประเด็นที่จะต้องให้ความสำคัญ มิใช่เพียงแค่ประเทศไทย แต่ต้องเป็นความร่วมมือระหว่างกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียน โดยมีแผนปฏิบัติการสามเหลี่ยมทองคำ 1511 เป็นกลไกหลักในการยกระดับมาตรการในการสกัดกั้น ซึ่งในห้วงที่ผ่านมาของการดำเนินงานตามแผนดังกล่าว ถือว่าพวกเราประสบความสำเร็จอย่างมาก ตนจึงขอถือโอกาสนี้ขอบคุณทุกประเทศที่ให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ และขอให้ประเทศสมาชิกอาเชียนร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดเช่นนี้ต่อไป เพื่อให้เราบรรลุเป้าหมาย Drug Free ASEAN ร่วมกัน

โดยภาพรวมในการประชุม ทางชาติสมาชิกอาเซียน ได้ชื่นชมแนวทางการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดของไทย อาทิ เมียนมาและเวียดนาม ที่ชื่นชมแนวทางการดำเนินการทั้งในระดับอนุภูมิภาคและระดับภูมิภาคอาเซียน ที่ไทยให้ความร่วมมือและการสนับสนุนกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพ

ทั้งนี้  มีการประกาศลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกคณะกรรมาธิการยาเสพติด (CND) ซึ่งเป็นองค์กรระดับโลกมีสมาชิกทั้งหมด 53 ประเทศ ทวีปเอเชียได้โควต้า 7 ประเทศ มีวาระครั้งละ 3 ปี จะหมดวาระในปี 2567 โดยจะมีการเลือกใหม่ในปี 2566 ขณะนี้มีประเทศที่ประกาศสมัครแล้ว คือ จีน อินเดีย กาตาร์ อินโดนีเซีย สิงคโปร์ โดยทางอินโดนีเซีย ต้องการที่จะมีพื้นที่ในเวทีระดับโลก ส่วนสิงคโปร์ ต้องการเข้าไปดำเนินการเรื่องกัญชา ซึ่งนายสมศักดิ์ ระบุว่าประเทศไทยพร้อมที่จะลงสมัคร และผลักดันให้กัญชาเป็นประโยชน์ทางการแพทย์ แต่ในเรื่องของการเสพเรายังไม่พร้อมที่จะเปิดเสรีเพราะติดเรื่องกฎหมายหลายฉบับ โดยหวังว่าไทยจะได้รับการสนับสนุนจากประเทศสมาชิกให้กลับมาทำงานอีกครั้ง

จากนั้นในช่วงบ่าย เป็นการรายงานผลการทบทวนกลางแผนของแผนความร่วมมืออาเซียนเพื่อต่อสู้กับปัญหาการลักลอบผลิตและการค้ายาเสพติดในพื้นที่สามเหลี่ยมทองคำ และรายงานในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการประชุมคณะกรรมาธิการยาเสพติด (CND) และการกำหนดการจัดการประชุมครั้งต่อไปที่ สปป.ลาว และได้ปิดประชุมในเวลา 14.20 น.

แสดงความเห็น