Home News การเมือง กมธ.ดีอีเอส ห...

กมธ.ดีอีเอส หวั่น “ITU” ยึดวงโคจรหากส่งดาวเทียมไม่ทันกำหนด ห่วง กสทช. มีความผิด

กมธ.ดีอีเอส หวั่น “ITU” ยึดวงโคจรหากส่งดาวเทียมไม่ทันกำหนด ห่วง กสทช. มีความผิดหากรักษาสมบัติชาติตามรัฐธรรมนูญไม่ได้ “สรอรรถ” ชี้ ธุรกิจดาวเทียมใช้เงินเยอะทำให้ไม่มีใครลงทุนเพิ่ม แนะ หารือ “ไทยคม” กำหนดทิศทางรักษาประโยชน์ชาติ

น.ส.กัลยา รุ่งวิจิตรชัย ส.ส. สระบุรี พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการการสื่อสารโทรคมนาคมและดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) เปิดเผยว่า สัปดาห์ที่ผ่านมา กมธ.ดีอีเอส ได้มีการประชุมพิจารณาเรื่องการออกใบอนุญาตประกอบกิจการดาวเทียมสื่อสารให้กับบริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) โดยมีตัวแทนจากสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กสทช.) เข้าชี้แจง โดยทางกรรมาธิการฯ ได้สอบถามถึงการจัดชุดข่ายงานดาวเทียม ที่ตอนนี้อยู่ในขั้นสมบูรณ์แล้วจำนวน 4 ชุด (Package) ซึ่งเป็นวงโคจรที่เราได้สิทธิ์มาจากสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ITU) โดยจากการประมูลชุดเครือข่ายดาวเทียมที่ผ่านมาทั้ง 4 ชุด ซึ่งมีการยกเลิกไปเนื่องจากมีผู้เข้าร่วมประมูลเพียงรายเดียวคือ บ.ไทยคมฯ แต่ในพ.ร.บ. กสทช. ปี 62 กำหนดไว้ว่า กสทช. มีหน้าที่ในการรักษาสิทธิ์วงโคจร ซึ่งการได้สิทธิ์มาจาก ITU มีข้อกำหนดเรื่องเวลาการนำดาวเทียมขึ้นไปสู่วงโคจรภายในเวลา 7 ปี นับตั้งแต่ได้รับสิทธิ์ ซึ่งในวงโคจร 50.5 องศาตะวันออก และวงโคจร 142 ตะวันออก มีเวลาเหลือไม่ถึง 2 ปี ในการยิงดาวเทียมขึ้นไป กสทช. มีแผนรองรับอย่างไรไม่ให้เสียสิทธิ์ในวงโคจรนี้ไป

โดยตัวแทนจาก กสทช.ตอบว่า กสทช. ได้พยายามดำเนินการอย่างเต็มที่ ในการดำเนินการตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ ในการรักษาไว้ซึ่งสิทธิ์ที่ประเทศไทยมี โดยกสทช.จำเป็นต้องเร่งจัดหาผู้ประกอบการเพื่อส่งดาวเทียมขึ้นไป เพื่อรักษาสิทธิ์ตรงนี้ไว้ การที่กสทช.ยกเลิกการประมูลไป เราตระหนักถึงเรื่องนี้ดี ก็อาจจะมีการปรับปรุงหลักเกณฑ์เรื่องคุณสมบัติ การอนุญาต เงื่อนไขการอนุญาต เพื่อจูงใจให้มีผู้เข้าร่วมขอใบอนุญาตมากขึ้น เราจะพยายามรักษาสิทธิ์ตรงนี้ไว้อย่างเต็มที่ 

“ยอมรับว่าตรงนี้เป็นความเสี่ยงของประเทศไทย กสทช. ก็น้อบรับและพยายามทำให้ดีที่สุด” ตัวแทนกสทช. กล่าว

น.ส.กัลยา กล่าวต่อว่า อย่างที่ทราบเรากังวลว่าชุดเครือขายดาวเทียมในชุดที่ 1 ที่มีตำแหน่งอยู่ที่ 50.5 องศาตะวันออก กับชุดที่ 4 ที่มีตำแหน่ง 142 องศาตะวันออก ที่อยู่ขั้นสมบูรณ์แล้ว โดยจะเห็นว่าทั้งสองชุดนี้กำหนดให้รีบเอาดาวเทียมขึ้นให้ได้ภายในหนึ่งปีกว่า เข้าใจว่าเวลาเหลือไม่มาก โอกาสคนชนะการประมูลแล้วเอาดาวเทียมขึ้นจะทันหรือไม่ อีกทั้งถ้าส่งดาวเทียมขึ้นไม่ทัน หรือไม่มีใครมาเอาสิทธิการใช้งานวงโคจรไปใช้ น่าจะมีปัญหาเกี่ยวเนื่องกับ พ.ร.บ. กสทช. 2562 เช่น มาตรา 18 และมาตรา 60 ของรัฐธรรมนูญ ที่บัญญัติให้รัฐต้องรักษาคลื่นความถี่และสิทธิในการเข้าถึงวงโคจรดาวเทียมอันเป็นสมบัติของชาติ ซึ่งก็จะมีคำถามตามมาเกี่ยวกับการรักษาวงโคจรนั้นจะยังคุ้มค่าอยู่หรือไม่ และวงโคจรดาวเทียมถือเป็นสมบัติของชาติหรือไม่ 

ด้านนายสรอรรถ กลิ่นประทุม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิในไทย ในฐานะกรรมาธิการฯ กล่าวว่า  เข้าใจว่าธุรกิจดาวเทียมเป็นธุรกิจที่มีมูลค่ามหาศาล เกี่ยวข้องกับความมั่นคง แต่เมื่อถึงเวลาประมูลไม่เห็นมีใครสนใจเข้ามาลงทุนเลย นั้นหมายความว่าไม่คุ้มกับการลงทุน ก็ไม่เข้าใจว่าจะไปบีบไทยคมออกไปเพื่ออะไร  ในทางตรงกันข้ามสิ่งที่เขาลงทุน ดำเนินการมา เข้าใจว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญ ไม่ว่าจะเป็นการเอาใครเข้ามาทำก็แล้วแต่ ก็ต้องพึ่งองค์ความรู้เครือข่ายจากเขาเพื่อให้เดินต่อไปได้ ผมคิดว่าต้องมานั่งคุยกันว่าไทยคมจะทำประโยชน์ให้กับประเทศชาติได้อย่างไร เราต้องการให้เขาปรับปรุง เอื้อสิทธิประโยชน์ให้กับประเทศได้มากน้อยขนาดไหน น่าจะเป็นประเด็นอย่างนี้มากกว่า ผมเห็นว่าการเปิดประมูลครั้งต่อไป ก็ยังไม่มีเข้ามาร่วม เพราะเป็นการลงทุนที่ใช้เงินลงทุนมากจริงๆ

Exit mobile version