มติ อนุกมธ. พิจารณาโครงสร้างตำรวจ ฟื้น “ก.ตช.” ชี้ควรแยกงานบริหารบุคคล ออกจากนโยบาย

นายขจิตร ชัยนิคม อนุกรรมาธิการ (กมธ.) พิจารณาโครงสร้างกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) และคณะกรรมการนโยบายตำรวจแห่งชาติ (ก.ตช.) ในกมธ.วิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ…. รัฐสภา เปิดเผยผลการหารือของอนุกมธ.ฯ ที่มี พล.ต.อ.ชัชวาลย์ สุขสมจิตร์ ส.ว. เป็นประธานอนุฯ ว่า อนุกมธ.มีมติให้ ก.ตร. และ ก.ตช. เป็นองค์กรที่แยกจากกัน เพื่อรับผิดชอบงานบริหารบุคคล และงานด้านนโยบายเหมือนกับปี 2547 ซึ่งไม่เป็นไปตามร่างพ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ ฉบับที่รัฐสภารับหลักการ ที่กำหนดให้มีเฉพาะ ก.ตร. เท่านั้น ส่วนหนึ่งมองว่าตัวร่างที่เสนอนั้นทำแบบรวบๆ โดยกำหนดให้มีบุคคลภายนอกสายงานตำรวจที่ไม่เกี่ยวข้องเข้ามาร่วมเป็นก.ตร. เช่น ปลัดกระทรวงมหาดไทย ปลัดกระทรวงยุติธรรม เป็นต้น ทั้งที่งานบริหารงานบุคคลของตำรวจควรเป็นบุคคลในสายงานตำรวจ และอาจเป็นต้นเหตุที่ทำให้เกิดการฝากคนดำรงตำแหน่ง สร้างระบบอุปถัมภ์ขึ้นได้

เมื่อถามว่าหากคืน ก.ตช. และปรับโครงสร้าง ก.ตร. ตามร่างกฎหมาย จะแก้ปัญหาที่ผ่านมาได้หรือไม่ นายขจิตร กล่าวว่า ต้องพิจารณาในหลายส่วนประกอบกันและต้องลงรายละเอียด ซึ่งอนุกมธ.ฯ พิจารณาเพียงแค่โครงการของก.ตร. และ ก.ตช. เท่านั้น จากนั้นจะนำเข้าให้ที่ประชุมกมธ.ฯ พิจารณา วันที่ 1 ตุลาคม เวลา 09.30 น.  อย่างไรก็ดีในปัญหาการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการตำรวจนั้น อนุกมธ.ฯ มีข้อเสนอว่าควรให้ยึดโยงกับข้าราชการตำรวจด้วย โดยผู้ที่จะดำเนินการเป็นคณะพิจารณาควรมาจากการเลือกของข้าราชการตำรวจ เช่น เปิดให้ข้าราชการตำรวจสมัครเข้ารับการคัดเลือก ให้เหลือ 3 คน ทั้งนี้เพื่อให้เกิดความผูกพันกับข้าราชการตำรวจ และความรับผิดชอบ ไม่ใช่รับใช้ผู้มีอำนาจ

“ข้อเสนอของอนุกมธ.ฯ ต้องไปพิจารณาในชั้นกมธ. อีกครั้งผมเชื่อว่ากมธ.ชุดใหญ่จะเห็นด้วย แต่หากไม่เห็นด้วยต้องถกแถลงรายละเอียดเพื่อให้เกิดความเห็นร่วม ส่วนตัวมองว่าหากกมธ.จะเติมข้อกฎหมายว่าด้วย ก.ตช. ที่ในร่างกฎหมายไม่มีนั้นสามารถทำได้ และไม่เกินหลักการ เพราะตามหลักการกำหนดว่าให้ปรับปรุงกฎหมาย เพื่อให้การแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการตำรวจมีหลักเกณฑ์ชัดเจนตามรัฐธรรมนูญ อีกทั้งร่างกฎหมายฉบับนี้คือกฎหมายปฏิรูป ดังนั้นจึงเชื่อว่าจะสามารถปรับปรุงให้ดีขึ้นกว่าเดิมได้” นายขจิตร กล่าว

แสดงความเห็น