วัดใจ “บิ๊กตู่” ทูลเกล้าฯร่างรธน. พท.-พปชร.ขยับเร็ว-รับเลือกตั้ง

หลังจากนี้ก็อยู่ในช่วง “วัดใจ” กันแล้วว่าเพราะต้องดูว่า สุดท้าย “พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี” จะตัดสินใจอย่างไรกับการนำร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา ขึ้นทูลเกล้าฯ  เพราะสัปดาห์ที่จะถึงนี้ ชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา จะนำส่งร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา ดังกล่าว ไปให้นายกรัฐมนตรี หลังผ่านมาแล้ว 15 วันที่รัฐสภาให้ความเห็นชอบร่างแก้ไขรธน.ไปเมื่อ 10 ก.ย.ที่ผ่านมา  แต่ที่ผ่านมา กระบวนการยังส่งให้นายกฯ นำขึ้นทูลเกล้าฯไม่ได้ เพราะต้องรอไว้ 15 วันเพื่อดูว่าจะมีสมาชิกรัฐสภา เข้าชื่อกันอย่างน้อยหนึ่งในสิบของจำนวนสมาชิกรัฐสภา เพื่อเสนอให้มีการส่งคำร้องไปยังศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่ 

โดยปรากฏว่า หลังจากครบกำหนด 15 วัน คือ 26 ก.ย. พบว่าไม่มีการเข้าชื่อจากส.ส.หรือส.ว. ขอให้ยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญ หลังกลุ่มพรรคการเมืองขนาดเล็กที่ต่อต้านการแก้ไขรธน.บัตรสองใบ  ยกธงขาว เพราะหาคนมาร่วมลงชื่อให้ครบตามจำนวนไม่ได้ ดังนั้น ประธานรัฐสภาเลยต้องส่งร่างแก้ไขรธน.ให้นายกรัฐมนตรี นำขึ้นทูลเกล้าฯต่อไป

ที่บอกว่าอยู่ในช่วงวัดใจ ก็เพราะยังคงมีการเคลื่อนไหวและการออกมาแสดงความคิดเห็นในแง่มุมข้อกฎหมายอยู่ว่า กระบวนการแก้ไขรธน.ดังกล่าว ซึ่งตอนที่ประชุมร่วมรัฐสภา โหวตรับหลักการวาระแรกที่โหวตรับหลักการร่างแก้ไขรธน.ของพรรคประชาธิปัตย์ ในร่างดังกล่าว มีการเสนอให้แก้ไขรธน.แค่สองมาตรา คือ มาตรา 83 และมาตรา 91     แต่ปรากฏว่า ร่างแก้ไขรธน.ที่รัฐสภาให้ความเห็นชอบ ทั้งวาระสามและวาระสาม ทางกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างแก้ไขรธน. ไปเพิ่มมาอีกหนึ่งมาตรา คือมาตรา 86 จนผ่านวาระสามออกมา 

ทางกรรมาธิการฯ ยกเหตุผลว่า ที่ต้องเสนอแก้มาตรา 86 ไปด้วยเพราะเป็นบทบัญญัติที่เกี่ยวเนื่องกัน กับการแก้ให้เป็นบัตรสองใบและเปลี่ยนระบบวิธีการคิดคะแนนผลการเลือกตั้ง ซึ่งหากไม่แก้ไขพ่วงเข้าไปด้วย จะเกิดปัญหาในเชิงเทคนิคข้อกฎหมายตามมา จึงต้องแก้ไขมาตรา 86 ตามไปด้วย ซึ่งข้อบังคับการประชุมร่วมรัฐสภา เปิดช่องให้ทำได้ 

อย่างไรก็ตาม เรื่องความจำเป็นที่ต้องแก้ไขมาตรา 86 นั้น ทุกฝ่ายไม่มีใครคัดค้านและต่างเห็นแล้วว่า จำเป็นต้องแก้ไข เพื่อให้สอดคล้องกับการแก้ไขมาตรา 83 และ 91 เพียงแต่ มีข้อติดค้างตรงที่ว่า “รัฐสภาสามารถให้ความเห็นชอบมาตรา ที่เสนอแก้ไขในวาระสาม  มากกว่าที่ตอนที่รัฐสภาโหวตรับหลักการในวาระแรกได้หรือไม่” ยิ่งที่ผ่านมา การแก้ไขรธน.ในประเทศไทย แทบไม่ค่อยได้เกิดขึ้นบ่อยครั้งนัก รวมถึงยังไม่เคยเกิดปัญหาในลักษณะดังกล่าว เลยทำให้ยังไม่เคยมีบรรทัดฐานในเรื่องนี้ ว่ารัฐสภาทำได้หรือทำไม่ได้ 

ความไม่เคลียร์ดังกล่าว เลยเป็น “ประตูแห่งความหวัง” ของฝ่ายที่ต้องการขวาง การแก้ไขรธน.ครั้งนี้ เพราะอย่างตอนที่พรรคขนาดเล็กนำโดย นพ.ระวี มาศฉมาดล หัวหน้าพรรคพลังธรรมใหม่พยายามจะรวบรวมรายชื่อสมาชิกรัฐสภาเพื่อยื่นคำร้องให้ศาลรธน.ตีความ ก็หยิบยกประเด็นนี้มาเคลื่อนไหว แต่สุดท้าย ก็ไม่สามารถรวบรวมเสียงส.ส.-ส.ว.ให้ครบตามจำนวนได้ เลยทำให้ไม่มีการยื่นเรื่องให้ศาลรธน.ตีความให้สิ้นกระแสความ 

อย่างไรก็ตาม ปรากฏว่า “นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม หัวหน้าพรรคไทยภักดี” ที่เคยออกมายอมรับตรงๆ ว่าบัตรสองใบ ทำให้พรรคตั้งใหม่ อย่างไทยภักดี เหนื่อยหนักในการลงสนามเลือกตั้ง ทาง หมอวรงค์ ยังคงไม่ยอมแพ้ในการขวางการแก้ไขรธน.ครั้งนี้ เพราะล่าสุด ประกาศใช้ช่องทาง ยื่นศาลรัฐธรรมนูญให้ตีความประเด็นดังกล่าว

ประเด็นที่ หมอวรงค์ นำมาเคลื่อนไหวรอบนี้ เขาแถลงไว้เมื่อ 24 ก.ย.ที่ผ่านมาว่า การที่รัฐสภา โหวตเห็นชอบร่างแก้ไขรธน.วาระสองและวาระสามตามร่างแก้ไขรธน.ของกมธ.ฯ อาจสุ่มเสี่ยงขัดรธน.ได้ จึงขอใช้สิทธิตามรธน.เพื่อยื่นคำร้องต่อศาลรธน. 

“การที่สมาชิกรัฐสภา ได้ดำเนินการแก้ไขระบบการเลือกตั้งจากบัตรหนึ่งใบไปสู่บัตรสองใบ โดยใช้กระบวนฉ้อฉล เร่งรีบ ไม่รอบคอบ ในการแก้รัฐธรรมนูญ ทั้งๆที่ประชุมใหญ่อนุมัติให้รับหลักการในวาระแรกเพียงสองมาตรา คือมาตรา 83 และมาตรา 91 แต่ไปลักไก่เพิ่มมาตรา 86 เข้ามา  จึงขอเชิญชวนประชาชนมาร่วมกันยื่นร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ผ่านผู้ตรวจการแผ่นดินใน วันที่ 28 กันยายน” เนื้อหาตอนหนึ่งของการแถลงข่าวของ นพ.วรงค์ เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาระบุ

ทว่า การเคลื่อนไหวดังกล่าวของ นพ.วรงค์ จับกระแสดูแล้วพบว่า เสียงตอบรับไม่ค่อยมีมากนัก เพราะขนาดฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขรธน.ก็ยอมรับว่า ร่างแก้ไขรธน.ดังกล่าว ไม่น่าจะมีปัญหาอะไร การขวางการแก้ไขรธน.โดยหวังใช้ช่องทางผู้ตรวจการแผ่นดินและศาลรธน.น่าจะทำได้ยาก 

อย่างไรก็ตาม เมื่อปมปัญหาดังกล่าว ยังไม่สะเด็ดน้ำ และร่างแก้ไขรธน.จะถูกส่งมาถึงนายกฯแล้ว ทำให้ทางเลือกของพลเอกประยุทธ์ ก็มีอยู่สองทาง หลังจากรับร่างแก้ไขรธน.มาจาก ประธานรัฐสภา คือ 

1.นำร่างแก้ไขรธน.ดังกล่าว ทูลเกล้าฯ ตามกระบวนการที่บัญญัติไว้ในรธน.ฉบับปัจจุบัน  

2.นายกรัฐมนตรี ก็อาจรอดูผลว่า หลังนพ.วรงค์ ยื่นเรื่องไปยังผู้ตรวจการแผ่นดิน ทางผู้ตรวจการแผ่นดิน จะมีท่าทีอย่างไร จะรับเรื่องไว้หรือไม่ หากไม่รับเรื่อง ก็ถือว่าสิ้นสุด ทุกอย่างน่าจะปลอดภัย แต่หากผู้ตรวจการแผ่นดิน รับเรื่องแล้วส่งคำร้องไปยังศาลรธน. ก็ต้องดูอีกว่า ศาลรัฐธรรมนูญจะรับคำร้องไว้วินิจฉัยหรือไม่ 

ขณะที่ คนในฝ่ายพรรคร่วมรัฐบาล จับกระแสได้ว่า ส่วนใหญ่ เห็นว่า หลังนายกฯได้รับร่างแก้ไขรธน.จากประธานรัฐสภา นายกฯ คงทำอะไรไม่ได้ ต้องนำร่างฯขึ้นทูลเกล้าฯไปตามขั้นตอน เพราะหากดึงร่างฯไว้ อีกสักระยะ  อาจทำให้บางฝ่าย เช่น พรรคเพื่อไทย จะเอาเรื่องนี้มาโจมตี นายกฯ ขึ้นมาได้ 

กระนั้น มีการมองกันว่า หลังพลเอกประยุทธ์ ได้รับร่างฯแล้ว ก็คงมีการปรึกษาหารือกับ ทีมกฎหมายข้างกาย ทั้งวิษณุ เครืองาม รองนายกฯและดิสทัต โหตระกิตย์ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี และอดีตเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีการวมถึง “มีชัย ฤชุพันธุ์ อดีตที่ปรึกษากฎหมายคสช.” ในฐานะอดีตประธานคณะกรรมการร่างรธน.  เพื่อขอความมั่นใจรอบสุดท้าย ก่อนนำร่างขึ้นทูลเกล้าฯ

หลังก่อนหน้านี้มีคนออกมาเตือนพลเอกประยุทธ์ ว่าเรื่องการไม่เคลียร์ข้อกฎหมาย อาจทำให้ เกิดปัญหาตามมาได้     โดยมีการหยิบยกเหตุการณ์ในอดีตขึ้นมาสำทับ เช่น ที่เคยเกิดกรณีการลงมติคัดเลือก-เห็นชอบ กรรมการป.ป.ช.โดยวุฒิสภายุคปี 2543 ที่ตอนนั้น มีข้อทักท้วงว่า กระบวนการเลือกป.ป.ช.ดังกล่าว ไม่ชอบด้วยกฎหมาย แต่ประธานวุฒิสภายุคนั้นคือสุชน ชาลีเครือ  ก็นำรายชื่อขึ้นทูลเกล้าฯ จนต่อมา  สำนักราชเลขาธิการทำหนังสือถึงประธานวุฒิสภา เพื่อขอให้ทบทวนการขอพระราชทานทูลเกล้าฯ ถวายร่างประกาศแต่งตั้งประธานและกรรมการป.ป.ช. ที่วุฒิสภาเห็นชอบ  

เลยมีบางคนออกมากระตุก พลเอกประยุทธ์ ก่อนนำร่างแก้ไขรธน.ขึ้นทูลเกล้าฯ ต้องดูให้รอบคอบ เพราะหากเกิดปัญหาขึ้นมา พลเอกประยุทธ์ อาจต้องแบกรับความเสี่ยงทางการเมืองได้ ถึงแม้เรื่องนี้ จะไม่เกี่ยวกับนายกฯ เพราะเป็นเรื่องของสมาชิกรัฐสภา นายกฯ เป็นเพียงแค่นำร่างฯขึ้นทูลเกล้าฯเท่านั้นก็ตาม 

พลเอกประยุทธ์ จะตัดสินใจอย่างไร คาดว่าไม่เกินสัปดาห์นี้ คือไม่เกินศุกร์ที่ 1 ตุลาคม คงรู้ผล 

อย่างไรก็ตาม พบว่า บรรดานักการเมือง พรรคการเมือง ดูจะไม่ค่อยซีเรียส เรื่องนี้มากนัก เพราะเชื่อมั่นว่า การแก้ไขรธน.ดังกล่าว ทำถูกต้อง ไม่ขัดรธน.แน่นอน เลยทำให้ บางพรรค มองไปข้างหน้าแล้ว เห็นได้จากหลายพรรค เริ่มมีการยกร่างแก้ไขเพิ่มเติมพ.ร.ป.การเลือกตั้งส.ส.ฯ เพื่อให้สอดคล้องกับการแก้ไขรธน. โดยจะนำเสนอเข้าสภาฯทันที หลังเปิดประชุมสภาฯ 1 พ.ย.นี้ 

ที่สำคัญ เริ่มเห็นสัญญาณการขยับของพรรคการเมืองขนาดใหญ่อย่าง พลังประชารัฐและเพื่อไทย ที่เริ่มส่งสัญญาณ เตรียมพร้อมสำหรับการเลือกตั้ง ที่อาจเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อหลังมีการแก้ไขพ.ร.ป.การเลือกตั้งส.ส.เสร็จสิ้น 

ไม่ว่าจะเป็นการขยับของ “พลังประชารัฐ” ที่ ธรรมนัส พรหมเผ่า เลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ กำชับส.ส.ของพรรคในช่วงนี้หลายครั้งว่า ให้ลงพื้นที่และเตรียมพร้อมเลือกตั้งเพราะรัฐบาลอาจอยู่ไม่ครบเทอม 

ขณะที่ “พรรคเพื่อไทย” พบว่า เริ่มหาตัวผู้สมัครส.ส.เขตกันหลายจังหวัด อย่างเช่นการเปิดตัว รับ เกียรติศักดิ์ ส่องแสง อดีตส.ส.ปทุมธานี พรรคประชาธิปัตย์ ที่ย้ายซบพรรคเพื่อไทยแต่หัววัน รวมถึงกระแสข่าว แกนนำพรรคเริ่มลิสต์รายชื่อคนดังหลายวงการเพื่อเตรียมทาบทามมาอยู่กับเพื่อไทย เช่น อดีตผู้บริหารธนาคารออมสินชื่อดังคนหนึ่ง รวมถึง นักธุรกิจชื่อดังในวงการอสังหาริมทรัพย์ ที่ระยะหลังออกมาวิจารณ์การเมืองอย่างถี่ยิบ เป็นต้น 

ทั้งหมดคือ ความเคลื่อนไหวของบางพรรคการเมืองเวลานี้  ที่มองข้ามช็อต ไปแล้วว่า ร่างแก้ไขรธน.ที่รัฐสภาทำคลอดออกมาฉลุย ไม่ถูกล้มกระดานแน่นอน แต่พลเอกประยุทธ์ จะมั่นใจเต็มร้อยแบบนี้ด้วยหรือไม่ ต้องรอดูการตัดสินใจ ในอีกไม่กี่วันข้างหน้านี้ 

แสดงความเห็น