ปัจจัย-เงื่อนไข เรือเหล็ก บิ๊กตู่ จมก่อนครบเทอม

ซีนการเมืองที่หลายคนเฝ้าติดตามต่อจากนี้ หลังสัปดาห์ที่ผ่านมา เกิดสองฉากสำคัญทางการเมืองขึ้นแบบติดๆกัน นั่นก็คือ

หนึ่ง การปลด ธรรมนัส พรหมเผ่า พ้นจากรมช.เกษตรและสหกรณ์และนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ ที่หลุดจากรมช.แรงงาน พร้อมกับการที่ “กลุ่ม 4 ช.พลังประชารัฐ” อยู่ในสภาพวงแตก หลังสันติ พร้อมพัฒน์ รมช.คลัง ชิ่งออกกลางคันหลังจบศึกซักฟอก

สอง รัฐสภา มีมติด้วยเสียงข้างมากเมื่อ 10 ก.ย. ผ่านวาระสามร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราเรื่องแก้ไขระบบการเลือกตั้งส.ส.เป็นบัตรสองใบ ทำให้ถ้าไม่มีสถานการณ์แทรกซ้อน การเลือกตั้งใหญ่ที่จะมีขึ้นจะมีการใช้บัตรสองใบ ที่จะมีผลต่อการเลือกตั้งของทุกพรรคการเมืองรวมถึงการจัดตั้งรัฐบาลหลังเลือกตั้งที่จะตามมา

สองฉากสำคัญดังกล่าว ล้วนมีผลอย่างยิ่ง ต่อความเป็นไปทางการเมืองหลังจากนี้ เช่นการที่ สันติ แยกวงออจากกลุ่ม 4 ช. ทำให้กลุ่ม 4 ช. อำนาจการต่อรองในพรรคพลังประชารัฐยวบลงทันที เพราะกลุ่มธรรมนัส ที่เคยเห็นมีส.ส.พลังประชารัฐหลายสิบคน ล้อมหน้าล้อมหลัง แต่อย่างที่รู้กัน หากถึงเวลาจริงๆ ส.ส.พลังประชารัฐ ถ้าต้องเลือกว่าจะยืนข้าง พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา หรือจะยืนข้าง ธรรมนัส หลายคน ก็ต้องคิดหนัก ถ้าจะอยู่กับธรรมนัส

เพราะอย่าง ส.ส.ภาคใต้ร่วม 13-14 คนที่ ธรรมนัส เคยดูแล ส.ส.ภาคใต้ พลังประชารัฐ ทุกคนก็รู้ดีว่าที่ได้เข้ามาเป็นส.ส. เอาชนะประชาธิปัตย์ได้ ก็เพราะกระแส คนใต้หนุนประยุทธ์ ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับธรรมนัสเลย

คิดง่ายๆ หากมีการเลือกตั้ง แล้วส.ส.ภาคใต้พลังประชารัฐ ถ่ายรูปคู่กับธรรมนัส ไปทำป้ายหาเสียง ถามว่า คนใต้จะเลือกส.ส.พลังประชารัฐ ทั้งหมด กลับเข้ามาเหมือนเดิมอีกหรือไม่ หลักง่ายๆ แค่นี้ มีหรือส.ส.ภาคใต้ พลังประชารัฐจะคิดไม่ออก

เช่นเดียวกับ ที่มีส.ส.กทม.อยู่ 2-3 คน เคยเห็นไปผูกสัมพันธ์กับ ธรรมนัส  พวกนี้ ก็พร้อมชิ่งเช่นกัน เพราะรู้อยู่แล้วว่า คนกทม.ไม่เอา ธรรมนัส และที่พลังประชารัฐ ได้ส.ส.กทม.เข้ามาร่วม 12 คน ก็เป็นแบบเดียวกับส.ส.ภาคใต้ คือคนกทม.เลือกลุงตู่ จนทำเอาประชาธิปัตย์สูญพันธุ์ในกทม.มาแล้ว

ด้วยเหตุนี้ หากถึงเวลาให้ส.ส.พลังประชารัฐ ต้องตัดสินใจ จะเลือประยุทธ์หรือจะอยู่กับ ธรรมนัส ส.ส.หลายคนในพลังประชารัฐ ยกเว้นพวกภาคเหนือตอนบน ก็คงไม่คิดมาก พร้อมจะชิ่งหนี ธรรมนัส แน่นอน

ดังนั้น กลุ่มธรรมนัส ถึงเวลาวัดขุมกำลังพวกเนื้อแท้จริงๆ ก็คงอาจจะมีไม่เกิน 20-25 คนด้วยซ้ำ

กระนั้น ยังถือว่า เป็นขุมกำลังที่ บิ๊กตู่ ก็วางใจไม่ได้

เพราะหากในอนาคตต่อจากนี้ ถ้าบิ๊กตู่-บิ๊กป้อม-ธรรมนัส เคลียร์ใจกันไม่ได้ จนการเมืองในพลังประชารัฐและรัฐบาล รอวันแตกหัก ธรรมนัส ก็อาจเดิมเกม ล็อบบี้เสียงส.ส.ปีกรัฐบาลอีกหลายปีก โดยเฉพาะพรรคเล็กๆ เพื่อวัตถุประสงค์บางอย่าง ในการออกเสียงลงมติในสภาฯ นัดสำคัญๆ จนอาจมีผลไม่มากก็น้อยต่อเสถียรภาพของรัฐบาลได้

อย่างไรก็ตาม หากดูจากปฏิทินการเมือง ที่สภาฯจะปิดสมัยประชุม 18 ก.ย.นี้ โดยปิดไปสองเดือน แล้วจะมาเปิดสภาฯอีกที ช่วง  พฤศจิกายน 2564 –  กุมภาพันธ์ 2565  โดยช่วงดังกล่าว ฝ่ายค้านไม่สามารถยื่นเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลได้เพราะได้ใช้โควตาไปแล้วในการอภิปรายรอบล่าสุดเมื่อต้นเดือนกันยายนที่ผ่านมา ฝ่ายค้าน  ทำได้แค่การขอเปิดอภิปรายแบบไม่ลงมติ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 152  ซึ่งก็ไม่มีผลใดๆทางการเมืองมากนัก ทำให้ รัฐบาลก็อยู่ในช่วงปลอดโปร่งทางการเมือง เว้นแต่จะมีการเสนอกฎหมายสำคัญๆ ของรัฐบาลโดยเฉพาะกฎหมายการเงิน ซึ่งหากดูจากสถานการณ์ตอนนี้ก็ไม่มีกฎหมายอะไรที่จะมีผลทำให้หากไม่ผ่านสภาฯ แล้วนายกฯต้องยุบสภา         ดังนั้น การเมืองในสภาฯ ตั้งแต่ปิดสมัยประชุม 18 ก.ย.นี้ ไปจนถึงกุมภาพันธ์ปีหน้า ถือว่าปลอดโปร่ง ไม่มีอะไรให้ บิ๊กตู่ กังวลมากนัก

จากนั้น พอถึงกุมภาพันธ์ปีหน้า ก็ต้องปิดสมัยประชุมไปอีกสองเดือน แล้วก็กลับมาเปิดประชุมอีกครั้ง ช่วง  22 พ.ค.– 18 ก.ย. 2565 อันเป็นช่วงสมัยประชุมที่ฝ่ายค้านสามารถยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลได้แล้ว อีกทั้ง เป็นช่วงที่รัฐบาล-ครม.ต้องเสนอร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2566 เข้าสภาฯ ที่เป็นกฎหมายสำคัญของรัฐบาล ที่ต้องผ่านความเห็นชอบจากสภาฯให้ได้ ไม่เช่นนั้น หากไม่ผ่าน นายกฯต้องยุบสภาฯสถานเดียว

เมื่อดูจากไทม์ไลน์การเมืองดังกล่าว ตั้งแต่ตอนนี้ไปจนถึงช่วงเปิดสมัยประชุมสภาฯช่วงเดือนพ.ค.  รวมเวลาแล้วก็ร่วมๆ 8 เดือน จึงเป็นช่วงเวลาที่ บิ๊กตู่ สามารถคอนโทรลการเมืองในสภาฯได้ แต่หลังเปิดสภาฯ เดือนพ.ค. ปีหน้า ถ้าการเมืองในพลังประชารัฐ ยังเคลียร์ไม่ได้ ยังมีร่องรอย การรอวันเอาคืน จากกลุ่มธรรมนัสอยู่ หรือ ถึงต่อให้ภาพภายนอกเคลียร์กันได้ แต่หาก บิ๊กตู่ ไม่ไว้ใจ เกรง กลุ่มธรรมนัส ตลบหลัง จะก่อหวอดตอนช่วง ฝ่ายค้านซักฟอก ที่แน่นอนว่า ยังไง ฝ่ายค้าน ก็ต้องยื่นซักฟอก พลเอกประยุทธ์อยู่แล้ว

และทาง พลเอกประยุทธ์ เกรง จะโดนกลุ่มธรรมนัส เดินเกมการเมืองในสภาฯ เพื่อหวังล้ม นายกฯกลางสภาฯ ซึ่งพลเอกประยุทธ์ไม่มีทางยอมแน่นอน ที่จะถูกจับเป็นตัวประกันทางการเมือง ถ้าหากบิ๊กตู่ไม่มั่นใจว่าจะคุมเสียงโหวตในสภาฯให้ยกมือไว้วางใจตัวเองจนเกินกึ่งหนึ่งได้ 

มันก็มีโอกาสที่ พลเอกประยุทธ์ จะ “ยุบสภาฯ” หลังเปิดประชุมสภาฯ ช่วงพ.ค.ปีหน้า ก่อนการเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ ก็ได้

ด้วยเหตุนี้ คนการเมือง เลยมองว่า ช่วงแปดเดือนต่อจากนี้ คือช่วงเวลาที่ พลเอกประยุทธ์ จะต้องวางแผนเดินเกมการเมืองหลายอย่าง ทั้งในรัฐบาลและในพลังประชารัฐ เพื่อค้ำยันรัฐนาวาของตัวเองให้ไปได้ตลอดรอดฝั่ง แต่หากไม่ไหว ไม่มั่นใจจริงๆ  บิ๊กตู่ อาจไม่ฝืน

การยุบสภาฯ ก็ย่อมมีสิทธิ์เกิดขึ้นได้ช่วงกลางปีหน้า หลังเปิดสภาฯ เดือนพ.ค.ได้ไม่นาน  ที่ถึงตอนนั้น การแก้ไขพ.ร.บ.การเลือกตั้งส.ส.ฯ และการออกระเบียบต่างๆ ของกกต. ในการเลือกตั้งส.ส.  เพื่อให้สอดคล้องกับการแก้ไขรธน.เรื่องบัตรสองใบก็เสร็จเรียบร้อยหมดแล้ว จึงมีการมองกันว่า ความเป็นไปได้ หากจะยุบสภาฯ ก็มีสูง

แต่เรื่องจะให้ พลเอกประยุทธ์ ลาออกจากนายกรัฐมนตรี หากดูจากสภาพแวดล้อมทางการเมืองและอุปนิสัยทางการเมืองของพลเอกประยุทธ์ ทุกคนเชื่อเหมือนกันหมด ประตูบิ๊กตู่ฯลาอออก แทบจะปิดประตูล็อกกลอนตายสนิทได้เลย     เพราะขนาด พลเอกประยุทธ์ กล้าเขี่ย ธรรมนัส ที่เป็นเลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ ออกจากครม. ทั้งที่ธรรมนัส คุมเสียงส.ส.พลังประชารัฐหลายสิบคน และมีหน้าตักพอที่จะไปคอนโทรลส.ส.ข้ามพรรคได้ โดยไม่เกรงจะเกิดผลทางการเมืองต่อเสถียรภาพรัฐบาลตามมา

มันก็แสดงให้เห็นแล้วว่า คนอย่าง  บิ๊กตู่ เด็ดขาด ไม่ยอมให้ใครมาขี่คอได้ง่าย ๆ

ดังนั้น พวกแรงกดดันนอกสภาฯ บรรดาม็อบกระเรกระราดทั้งหลาย ทั้ง “ม็อบสามนิ้ว-คาร์ม็อบ”  จึงไม่อยู่ในสายตาพลเอกประยุทธ์อยู่แล้ว

ยิ่งตอนนี้ม็อบไล่นายกฯ ฟืนเปียกกลางฤดูฝน ขนาดเข็นเอา ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ มาเป็นหัวหอก ยังล้มเหลว คนมาร่วมชุมนุมแยกอโศก หลักร้อย จน ณัฐวุฒิ-สมบัติ บุญงามอนงค์ เสียหน้ากันไปตามๆ กัน ขณะที่ การล้มรัฐบาลโดยฝ่ายค้าน ก็ป้อแป้ มีแต่ราคาคุย เห็นได้จากศึกซักฟอกที่ผ่านไป ยิ่งตอกย้ำ ภาพลักษณ์ ฝ่ายค้านไร้น้ำยา หนักขึ้นไปอีก

ทำให้ เงื่อนไขการเมืองที่จะทำให้ บิ๊กตู่ อยู่ไม่ถึงสี่ปี อยู่ไม่ครบเทอม ถึงตอนนี้มีแค่เงื่อนไขเดียว คือ

“การเมืองในพรรครัฐบาล-พลังประชารัฐ”

ที่ถ้าเคลียร์กันไม่ได้ กลุ่มธรรมนัส ในพลังประชารัฐ ก็คงเป็นก้อนกรวดในรองเท้าของพลเอกประยุทธ์ ทำให้ พลเอกประยุทธ์ต้องเสียเวลา-เสียสมาธิ คอยกังวลใจ จนถึงช่วงเปิดประชุมสภาฯกลางปีหน้า

อย่างไรก็ตาม การคาดการณ์ทางการเมืองทั้งหมดข้างต้น หากมีเงื่อนไขพิเศษหรือสถานการณ์แทรกซ้อนที่สำคัญแบบหลายคนคาดไม่ถึง เช่น “กลุ่ม 3 ป. วงแตก” บิ๊กป้อม พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ ถอนยวง วางมือจากพลังประชารัฐ จากผลพวง ธรรมนัสเอฟเฟกต์  ก็อาจส่งผลให้ เงื่อนไขการยุบสภาฯ อยู่ไม่ครบเทอม แปรเปลี่ยนได้ แต่หากดูจากสถานการณ์ถึงตอนนี้ ก็ยังไม่แลเห็น

การยุบสภาฯหรือการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองครั้งใหญ่ในรัฐบาล ในช่วงเวลาอันใกล้นี้ ความเป็นไปได้ที่จะเกิดขึ้น จึงน่าจะมีน้อย แต่ก็ไม่แน่!!!

แสดงความเห็น