“บิ๊กโย่ง” ชี้ เสียงเห็นชอบส.ว.อาจเกิน 84 เสียง แต่เฉียดฉิว “เสรี” ย้ำ ส.ว.กลับมติได้

“พล.อ.อนันตพร” ส.ว.สายตรง ประยุทธ์ ชี้ เปรี้ยงเสียงเห็นชอบ ส.ว.อาจเกิน 84 เสียง แต่อาจเฉียดฉิว เส้นยาแดงผ่าแปด รับ อาจมีส.ว.เปลี่ยนใจ งดออกเสียงเพิ่มขึ้น “เสรี” ย้ำ ส.ว.กลับมติได้ เพราะรธน.เปิดช่องให้ ชั่งใจ-ไตร่ตรอง

พลเอก อนันตพร กาญจนรัตน์ สมาชิกวุฒิสภา อดีตรมว.พลังงาน รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา หรือ บิ๊กโย่ง ส.ว.สายตรง พลเอกประยุทธ์ กล่าวว่า กำลังพิจารณาข้อมูลร่างแก้ไขรธน.ที่จะโหวตลงมติอยู่ ซึ่งที่ผ่านมา ส.ว.เองก็มีการแลกเปลี่ยนพูดคุยแสดงความคิดเห็นอยู่ถึงผลดีผลเสียของระบบการเลือกตั้ง ทั้งแบบบัตรใบเดียวตามรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันและระบบใหม่ที่มีการแก้ไขที่จะกลับไปเหมือนระบบแบบในอดีต ซึ่งก็พบว่าต่างก็มีข้อดีข้อเสียแตกต่างกันไป ซึ่งตอนนี้ ข้อมูลที่เข้ามายังส.ว. ก็มีเยอะมาก มีคนนำข้อดีข้อเสียมาแลกเปลี่ยนกันเยอะ เช่น บางคนก็บอกว่า ระบบบัตรสองใบ จะทำให้พรรคขนาดใหญ่ได้เปรียบเสียเปรียบอย่างไร ซึ่งตนก็กำลังพิจารณาอยู่ แต่ก็คิดว่า ไม่ว่าจะระบบแบบไหน สุดท้าย ประชาชนเขาก็ปรับตัวได้ เพราะไม่ว่าระบบจะออกมาแบบไหน สุดท้ายแล้วจะดีหรือไม่ดี ก็อยู่ที่ คนที่จะเข้าไปในระบบ ซึ่งระบบกลั่นกรองที่สำคัญคือเรื่องของ การทำไพรมารี่โหวตคัดเลือกผู้สมัครมากกว่า ส่วนเรื่องบัตรใบเดียวหรือจะใบสองบัตร มองว่าเป็นปลายเหตุ

เมื่อถามว่า มั่นใจหรือไม่ว่า ส.ว.จะโหวตเห็นชอบเกิน 84 เสียง จนทำให้ร่างแก้ไขรธน.ผ่านวาระสาม พลเอกอนันตพร ระบุว่า ประเมินว่า แนวโน้มเสียงน่าจะใกล้เคียงมาก แต่ถามความเห็นส่วนตัว ถ้าให้ประเมิน ก็คิดว่าอาจจะเฉียดฉิว คือน่าจะผ่าน แต่เสียงก็อาจเฉียดฉิวเกิน 84 เสียงก็ได้ ซึ่งก็อาจเป็นไปได้ที่อาจจะมีส.ว.ที่เคยลงมติเห็นชอบในวาระแรกและวาระสอง พอมาถึงการลงมติวาระสาม หากเขายังไม่แน่ใจ ก็อาจใช้วิธีเปลี่ยนมาเป็นการงดออกเสียงตอนโหวตวันศุกร์นี้

ด้านนายเสรี สุวรรณภานนท์ สมาชิกวุฒิสภา กล่าว ยืนยันในหลักการเดิมว่าไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ เพราะประชาชนไม่ได้ประโยชน์ เป็นเรื่องของสองพรรคการเมืองใหญ่ ไม่ได้แก้เพื่อประชาชน ซึ่งตอนนี้ก็พบว่า ก็ยังเห็นไม่ตรงกัน เพราะวิปรัฐบาลจากพลังประชารัฐ บอกว่าให้ฟรีโหวต แต่นายไพบูลย์ นิติตะวัน ประธานกมธ.แก้ไขรธน.จากพลังประชารัฐบอกว่าพรรคต้องสนับสนุนลงมติไปในทางเดียวกัน โดยในส่วนของส.ว.นั้น ถึงตอนนี้ ก่อนหน้าลงมติหนึ่งวันพบว่า ส.ว.ยังไม่ตกผลึกเสียทีเดียว ยังมีความเห็นแตกต่างกันอยู่มาก มีทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับบัตรสองใบ บางคนที่ไม่เห็นด้วยก็บอกว่าหากกลับไปใช้ระบบเดิม การเมืองจะกลับไปมีปัญหาแบบในอดีต ทำให้ถึงตอนนี้ ยังบอกไม่ได้ชัดว่าส.ว.เสียงส่วนใหญ่เอาอย่างไร

นายเสรี ยืนยันเช่นกันว่า การที่ส.ว.ที่เคยลงมติเห็นชอบด้วยกับการแก้ไขรธน.วาระแรกและวาระสอง แล้วจะเปลี่ยนมาเป็น “งดออกเสียง” ในวาระสาม จะไม่ทำให้เกิดกระสุนตกที่วุฒิสภา โดยหากส.ว.คนใดจะเปลี่ยนใจลงมติวาระสามไม่เหมือนวาระแรกและวาระสอง  ก็ต้องอธิบายให้ประชาชนเข้าใจว่า รัฐธรรมนูญยังเขียนเว้นทิ้งช่วงให้การโหวตวาระสาม ต้องทำหลังลงมติวาระสองแล้วอย่างน้อย 15 วัน เพื่อมาโหวตวาระสาม แทนที่จะโหวตวาระสามในวันเดียวกัน ทันทีเหมือนกฎหมายปกติ หลักการดังกล่าวมีแค่การแก้ไขรธน.อย่างเดียวเท่านั้น ที่เป็นเช่นนี้เพราะรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ การเว้นไว้ 15 วัน เพื่อให้สมาชิกรัฐสภา ได้มีเวลาคิดไตร่ตรองใคร่ครวญอย่างรอบคอบ ได้กลับไปดูข้อดีข้อเสีย อีกครั้งว่าสิ่งที่เคยโหวตไว้มีข้อดีข้อเสียอย่างไร

“การโหวตวาระสาม ไม่จำเป็นต้องโหวตแบบเดิมเหมือนตอนโหวตวาระสองก็ได้ ถ้าจะไม่ลงมติแบบเดิม ก็อธิบายให้ประชาชนเข้าใจหลักการตรงนี้ ที่รัฐธรรมนูญเขียนไว้ให้เว้นไว้สิบห้าวัน เป็นเรื่องของการให้กลับมาคิด กระสุนก็คงไม่ตกที่ส.ว.” นายเสรีระบุ

แสดงความเห็น