10 ก.ย. ชี้ชะตาบัตร 2 ใบ สภาสูง รอสัญญาณรอบสุดท้าย

ศุกร์นี้แล้ว 10 กันยายนจะได้รู้กันว่า สุดท้าย “บัตรเลือกตั้งสองใบ” จะได้ถูกนำกลับมาใช้ในการเลือกตั้งส.ส.อีกหรือไม่ หรือว่าการเมืองไทย การเลือกตั้งครั้งหน้า จะยังคงใช้บัตรเลือกตั้งใบเดียวกันต่อไป เพราะ 10 ก.ย.นี้ ที่ประชุมร่วมรัฐสภา จะลงมติ

“เห็นชอบ-ไม่เห็นชอบ”

กับการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพิ่มเติม มาตรา  83 และ 91 ว่าด้วยระบบเลือกตั้ง ซึ่งก็คือการเปลี่ยนระบบการเลือกตั้ง ส.ส.จากเมื่อปี 2562 ที่ใช้บัตรเลือกตั้งใบเดียว แล้วรวมคะแนนที่แต่ละพรรคการเมืองได้มาคิดคำนวณหาสัดส่วนส.ส.ที่แต่ละพรรคการเมืองพึงมีในสภาฯ มาเป็นระบบเลือกตั้งบัตรสองใบ แยกคะแนน ส.ส.เขตกับปาร์ตี้ลิสต์ออกจากกัน

การประชุมร่วมรัฐสภาวันศุกร์นี้ เป็นการลงมติใน วาระที่ 3 ซึ่งร่างแก้ไขรธน.ที่จะผ่านความเห็นชอบจากที่ประชุมร่วมรัฐสภาเพื่อนำขึ้นทูลเกล้าฯ จะต้องได้เสียงเห็นชอบจากสมาชิกรัฐสภา ทั้งส.ส.และ ส.ว.ที่ปฏิบัติหน้าที่อยู่เกินกึ่งหนึ่งขึ้นไป และในจำนวนนี้ต้องมีเสียง ส.ส.ฝ่ายค้านเห็นด้วยไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 ของจำนวนส.ส.ฝ่ายค้าน ซึ่งไม่มีปัญหา เพราะเพื่อไทย พรรคเดียว ที่มี ส.ส. 132 คน เห็นด้วยกับการแก้ไขรธน.รอบนี้ แต่ตัวแปรที่สำคัญก็คือ “เสียงเห็นชอบจากสมาชิกวุฒิสภา” ที่ต้องเห็นชอบด้วยไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 หรือ 84 เสียง ร่างแก้ไขรธน.ดังกล่าว จึงจะผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภา

ที่น่าสนใจคือจากเดิมที่แวดวงการเมืองเชื่อว่าการโหวตวาระสาม น่าจะผ่านฉลุย เสียงส่วนใหญ่จะให้ความเห็นชอบการแก้ไขรธน.ครั้งนี้ โดยดูจากจำนวนเสียง ส.ส.และส.ว.ในการลงมติวาระแรกและวาระสอง

ทว่าพอเกิดเหตุการณ์ช่วงศึกซักฟอก ที่บิ๊กตู่ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เกือบโดนแทงหลัง หลุดจากเก้าอี้นายกฯกลางสภาฯ โดยมีข่าวเรื่องการ “ล็อบบี้” ส.ส.ให้คว่่ำนายกฯ โดยเฉพาะกับพวกพรรคขนาดเล็กรวมถึงส.ส.รัฐบาลด้วยกันเอง ผสมกับกระแสข่าว “ดีลพิเศษ” ระหว่างแกนนำพลังประชารัฐบางส่วนกับทักษิณ ชินวัตรและเพื่อไทย พบว่าความเคลื่อนไหวดังกล่าว ส่งผลให้ส.ว.หลายคน เริ่มมองว่า ขนาดมีพรรคการเมืองจำนวนมากในสภาฯ และเสียงส.ส.กระจายไปหลายพรรค แต่ก็ยังมีการวางแผนเดิมเกม -การต่อรองทางการเมืองรวมถึงกระแสข่าวการใช้เงินเพื่อล้มรัฐบาล ยังรุนแรงขนาดนี้ แล้วหากมีการเลือกตั้งใช้บัตรสองใบ ที่มีความเป็นไปได้สูงที่ พรรคเพื่อไทย หลังเลือกตั้ง น่าจะได้ส.ส.เข้าสภาฯ จำนวนมาก แล้วหากเพื่อไทย ไปจับมือกับบางพรรคการเมืองตั้งรัฐบาลเสียงข้างมากแบบเบ็ดเสร็จ จะทำให้เกิด “เผด็จการรัฐสภา” ขึ้นมา จนระบบตรวจสอบทำงานไม่ได้ สุดท้าย อาจเกิดวิกฤตการเมืองขึ้นได้

สมการเมืองดังกล่าว ที่แทรกเข้ามา ทำให้ช่วงต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา จากที่คนการเมืองในรัฐสภา เคยคิดกันว่า การโหวตวาระสามน่าจะฉลุย ไม่มีปัญหา ก็เริ่มมีกระแสข่าว ตั้งแต่ช่วงต้นสัปดาห์นี้ ถึงความเคลื่อนไหว แบบแปร่งๆ ในทำนอง ให้จับตา

“สัญญาณพิเศษ”

ช่วง โค้งสุดท้าย ก่อนการลงมติ ที่ส.ว.อาจจะ “เปลี่ยนใจ” จนทำให้ “บัตรสองใบ” สะดุดกลางคัน

หลังเริ่มมีกระแสข่าวว่า แกนนำพลังประชารัฐ-ส.ส.พลังประชารัฐ บางส่วน ชักเปลี่ยนใจ ไม่อยากเอาบัตรสองใบแล้ว เพราะไม่มั่นใจว่า บัตรสองใบ พลังประชารัฐ จะสู้กับ ทักษิณ และเพื่อไทยได้ แต่ด้วยการที่พลังประชารัฐ เป็นโต้โผใหญ่ เอาด้วยกับเพื่อไทยและประชาธิปัตย์ในเรื่องการแก้ไขรธน.ฟื้น บัตรสองใบ ดังนั้น หากพลังประชารัฐ ล้มการแก้ไขรธน. ไม่เอาด้วยกับบัตรสองใบ อาจเกิดกระแสต่อต้านขึ้นได้ ว่าพลังประชารัฐไม่จริงใจและเล่นเกมซื้อเวลาแก้ไขรธน. เลยมีข่าวลือทำนองว่า คนในพลังประชารัฐบางส่วน อาจเปิดดีล ขอเสียงส.ว.ให้ล้มกระดานบัตรสองใบ ก็ได้ ให้จับตาไว้

เว้นแต่บิ๊กพลังประชารัฐ อย่าง “บิ๊กป้อม พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพปชร.” ยันเสียงแข็งให้เดินหน้าฟื้นบัตรสองใบ  การเคลื่อนไหวดังกล่าวก็อาจไม่เกิดขึ้น และส.ว.สายบิ๊กป้อม ก็อาจไม่กล้าแหกโผ ยอมผ่านบัตรสองใบ หลายฝ่ายจึง บอกว่า ความเคลื่อนไหวนี้ ทุกอย่าง มีพลิก-มีเปลี่ยนได้ตลอด จนถึงตอนเช้าวันศุกร์ที่ 10 ก.ย. นี้

เห็นได้จากการส่งสัญญาณจาก “วันชัย สอนศิริ สมาชิกวุฒิสภา” ที่ระบุไว้ “ส.ว.ได้พูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นร่วมกันตลอด ว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้เป็นเรื่องของพรรคการเมืองและนักการเมืองล้วนๆ ไม่ได้เป็นประโยชน์กับประชาชนอย่างแท้จริง ดังนั้น เราเห็นว่าหากระบบแบบนี้มีข้อบกพร่อง และย้อนรอยกลับไปตั้งแต่ปี 2540 ไม่ได้แก้ไขเพื่อเดินหน้า แต่เป็นการแก้ถอยหลัง และจนวันนี้มีการพูดคุยแลกเปลี่ยนกันระหว่าง ส.ว.เป็นจำนวนมากในทำนองว่าจะรับหรือไม่รับ มีสัญญาณบางอย่างที่บ่งชี้ว่าอาจไม่รับร่างครั้งนี้ก็ได้ แต่ต้องรอดูกันต่อไป เพราะแต่ละวันมีการเปลี่ยนแปลงได้โดยตลอด สัญญาณนี้เท่าที่ดูนั้นพบว่าจะไม่รับร่างแรงพอสมควร”(6 ก.ย.)

“ทีมข่าว theagendathai.com” ได้สัมภาษณ์พูดคุยกับสมาชิกวุฒิสภา จำนวนหนึ่ง เพื่อตรวจสอบความเคลื่อนไหวของส.ว. ที่พบว่า ทางส.ว.มีการเคลื่อนไหวในเรื่องนี้มากพอสมควร ทั้งการที่ส.ว.มีการแลกเปลี่ยนความเห็นและข้อมูลข่าวสารผ่านไลน์ส่วนตัวและไลน์กลุ่มของส.ว.แต่ละภาคส่วน ในทำนองการแลกเปลี่ยนความเห็น และข้อมูลเรื่องการแก้ไขรธน. แต่ไม่ได้เป็นลักษณะการล็อบบี้แต่อย่างใด เป็นเพียงแค่การส่งข่าวเวลามีข่าวเกี่ยวกับเรื่องการโหวตวาระสาม รวมถึง การคุยกันสั้นๆ ทางไลน์ 

ที่น่าสนใจ “ทีมข่าว theagendathai.com” ได้ข้อมูลมาว่า ในช่วงการประชุมวุฒิสภาเมื่อวันจันทร์ที่ 6 ก.ย.ที่ผ่านมา พบว่า ส.ว.ที่มาร่วมประชุมจำนวนมาก ต่างได้มีการจับกลุ่มพูดคุยถึงเรื่องการโหวตในวันศุกร์นี้ 10 ก.ย. รวมถึงพบส.ว.หลายคน ได้มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันเพื่อสอบถามท่าทีของแต่ละคนในการโหวตลงมติ ในลักษณะสอบถามมุมมองผลดี-ผลเสีย ของการใช้ระบบบัตรเลือกตั้งใบเดียวแบบตอนเลือกตั้งปี 2562 กับระบบบัตรสองใบ ที่ให้แยกคะแนนส.ส.เขตกับปาร์ตี้ลิสต์ เพื่อคุยกันว่าระบบไหน มีข้อดี ข้อเสียแตกต่างกันอย่างไร

ทางเราได้ข้อมูลมาว่า การหารือ-แลกเปลี่ยนความเห็นกันดังกล่าว ของส.ว. จำนวนไม่น้อย เกิดขึ้นทั้งบริเวณนอกห้องประชุมวุฒิสภา-ในห้องประชุมวุฒิสภา-ห้องรับรอง-วงกาแฟของส.ว. โดยบางวงก็พูดคุยกันอย่างเข้มข้น โดยมีทั้งส.ว.ที่เห็นว่า ควรแก้ไขรธน. เพราะระบบบัตรใบเดียว ทำให้เกิด พรรคเล็ก-ส.ส.ปัดเศษเข้าสภาฯ มากเกินไป การจัดตั้งรัฐบาลมีปัญหา เกิดการต่อรองในรัฐบาลและในสภาฯ จนรัฐบาลทำงานได้ยาก ไม่มีเสถียรภาพ จึงควรลงมติให้การแก้ไขรธน.เกิดผลสำเร็จ

ขณะที่ ส.ว.ที่เอาด้วยกับบัตรใบเดียว ก็ยกเหตุผลเรื่อง บัตรใบเดียว ทำให้ทุกเสียงที่ประชาชนลงคะแนนมีความหมาย เสียงไม่ตกน้ำ พรรคเล็ก-พรรคขนาดกลางมีโอกาสแจ้งเกิด และเป็นทางเลือกให้กับประชาชน ทำให้การเมืองไม่เกิดการผูกขาดไว้ที่พรรคใหญ่เพียงไม่กี่พรรค ที่จะใช้เงินจำนวนมากในการทำการเมือง และการเลือกตั้ง และส.ว.หลายคนมองว่า บัตรสองใบ พรรคการเมืองที่ไม่ใช่พรรคนายทุนใหญ่ ไม่ได้กุมอำนาจรัฐ จะเสียเปรียบมาก สุดท้าย หลังเลือกตั้ง อาจทำให้เกิดเผด็จการรัฐสภาได้หากพรรคใหญ่จับมือกันตั้งรัฐบาล  โดยส.ว.บางคน ก็ถึงกับบอกว่า ระบบดังกล่าว สุดท้าย จะมีแค่สองพรรคที่ได้ประโยชน์คือ เพื่อไทยและพลังประชารัฐ และไม่แน่ สองพรรคดังกล่าว จะจับมือตั้งรัฐบาลร่วมกันหลังเลือกตั้งก็ได้ 

นอกจากนี้ “ทีมข่าว theagendathai.com” ได้ข้อมูลมาอีกว่า  ส.ว.หลายคน ได้คุยกันว่า แม้จะไม่เห็นด้วยกับบัตรสองใบ แต่เห็นว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องของส.ส.และพรรคการเมือง ไม่เกี่ยวกับส.ว. ทางส.ว. จึงไม่ควรไปขัดขวางเมื่อเสียงส่วนใหญ่ในสภาฯ เอาด้วยกับการแก้กติกาการเลือกตั้ง ส.ว.ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ก็ไม่ควรไปสกัดกั้น

อีกทั้งพบว่าส.ว.หลายคน ให้เหตุผลว่า ได้เคยลงมติเห็นชอบตอนวาระแรกและวาระสองไปแล้ว มีบันทึกการออกเสียงปรากฏเป็นหลักฐาน หากตอนโหวตวาระสาม มาเปลี่ยนท่าที ไม่เห็นชอบหรืองดออกเสียง ก็อาจดูไม่เหมาะสมได้

“ถึงตอนนี้ สว.หลายคน ก็มีคำตอบอยู่ในใจแล้วว่าจะลงมติแบบไหน โดยก็มีจำนวนไม่น้อยบอกว่าจะลงมติเห็นชอบ เพราะเป็นเรื่องของสภาฯ ส.ว.ไม่ควรไปล้มการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ขณะที่ส.ว.บางส่วน จากที่เคยลงมติเห็นชอบ มาถึงตอนนี้ เขาบอกว่า พอเกิดกรณีความเคลื่อนไหวทางการเมือง ในช่วงศึกซักฟอก ที่มีข่าว มีการต่อรอง มีการให้ผลประโยชน์กับนักการเมือง เพื่อล้มนายกฯหรือเพื่อออกเสียงไว้วางใจหรือไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีบางคน ส.ว.หลายคน ก็บอกว่า เกรงว่าหากใช้บัตรสองใบ แล้วการเมืองเกิดการผูกขาด รัฐบาลมีเสียงข้างมากในสภาถึงสามร้อยกว่าเสียง ถึงต่อให้มีส.ส.ฝ่ายค้าน แต่ถ้าฝ่ายรัฐบาล ใช้วิธีเอาผลประโยชน์มาให้ฝ่ายค้านบางพรรค หรือส.ส.ในซีกฝ่ายค้านสักกลุ่มหนึ่ง  เพื่อแลกกับการไม่ไปร่วมลงชื่อเสนอญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจ การอภิปรายก็อาจไม่เกิดขึ้นก็ได้ ทำให้จนถึงขณะนี้ ส.ว.หลายคน เลยบอกว่า หากไม่แน่ใจ ก็อาจใช้วิธีงดออกเสียงก็ได้ รวมถึงบางส่วนก็บอกว่าจะขอรอดูสัญญาณการเมืองบางอย่างในช่วงเช้าวันศุกร์วันโหวต 10 ก.ย.นี้ก่อนการลงคะแนนด้วย” แหล่งข่าวจากสว.รายหนึ่งให้ข้อมูลความเคลื่อนไหวภายในกลุ่มสมาชิกวุฒิสภากับ ทีมข่าวtheagendathai.com

เส้นทางการฟื้นบัตรสองใบ ผ่านการแก้ไขรธน.รอบนี้ จะสำเร็จหรือไม่ จะมีพรรคการเมืองบางพรรคสับขาหลอก เพื่อล้มกระดาน บัตรสองใบ อย่างที่มีกระแสข่าวหรือไม่ และส.ว.ที่เป็นด่านสำคัญในการทำให้บัตรสองใบกลับมาอีกครั้ง สุดท้ายแล้ว ส.ว. จะลงมติไฟเขียวหรือจะมีการจับมือกันเพื่อตีตก บัตรสองใบ 10 ก.ย.นี้ ได้รู้กัน

แสดงความเห็น