รัฐบาลสร้างโอกาสทองอุตสาหกรรมชีวภาพ ผลักดันสู่ศูนย์กลางอาเซียน

รัฐบาลสร้างโอกาสทองอุตสาหกรรมชีวภาพ ผลักดันสู่ศูนย์กลางอาเซียน ออกมาตรการส่งเสริมการลงทุน คาดมีเอกชนลงทุนแตะ 1.5 แสนล้าน

น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยรัฐบาลเร่งขับเคลื่อนอุตสาหกรรมชีวภาพ ให้ไทยเป็นศูนย์กลางแห่งอาเซียน มีผลิตภัณฑ์เป้าหมายคือ พลาสติกชีวภาพ เคมีชีวภาพ และชีวเภสัชภัณฑ์ สอดรับวาระแห่งชาติโมเดลเศรษฐกิจ BCG (Bio -Circular -Green Economy) ที่ใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม มาเสริมสร้างจุดแข็งของประเทศ เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างมีคุณภาพและยั่งยืน ทั้งนี้ สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) ประมาณการว่า อุตสาหกรรมชีวภาพจะมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ค่าเฉลี่ยของตลาดโลกเติบโตอยู่ที่ร้อยละ 13.8 ต่อปี (ช่วงปี 2558-2568)

จากรายงานความก้าวหน้าของมาตรการพัฒนาอุตสาหกรรมชีวภาพของไทย ปี พ.ศ.2561-2570 จัดทำโดยกระทรวงอุตสาหกรรม เสนอต่อครม.เมื่อสิงหาคมที่ผ่านมา ชี้ให้เห็นถึงความพร้อมของประเทศในการผลักดันให้เป็นผู้นำอุตสาหกรรมชีวภาพครบวงจรในอาเซียน (Bio Hub of ASEAN) เนื่องจากเป็นหนึ่งในจำนวนไม่กี่ประเทศในโลกที่มีศักยภาพด้านวัตถุดิบจากสินค้าเกษตร โดยเป็นผู้ส่งออกมันสำปะหลังและน้ำตาล อันดับต้นๆของโลก มีฐานการผลิตผลิตภัณฑ์ชีวภาพ เช่น กรดแลคติก สารให้ความหวาน และพลาสติกชีวภาพ และเป็นผู้นำการผลิตและการใช้เชื้อเพลิงชีวภาพในอาเซียน ซึ่งนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมได้ให้ข้อมูลว่า หากภาคเอกชนสามารถดำเนินโครงการต่างๆได้ตามแผน จะเกิดการลงทุนในอุตสาหกรรมนี้เพิ่มขึ้นอีกกว่า 1.49 แสนล้านบาท ช่วยหนุน GDP ของประเทศให้โตเพิ่มขึ้น  และยังก่อให้เกิดประโยชน์ด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม สร้างงาน สร้างรายได้แก่เกษตรกรและแรงงานในหลายพื้นที่อีกด้วย ซึ่งเบื้องต้น ได้กำหนดพื้นที่เป้าหมายไว้ คือ เขตระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) ภาคอีสานตอนกลาง (Bio- Northeast) และภาคเหนือตอนล่าง (Bio-North) อย่างไรก็ตาม แผนการก่อสร้างโรงงานของภาคเอกชนมีบางส่วนถูกกระทบเนื่องด้วยสถานการณ์โควิด19 แต่ก็ยังมีการลงทุนหลายโครงการที่อยู่ระหว่างการขับเคลื่อน  อาทิ 1)โครงการผลิตพอลิเมอร์ชีวภาพชนิดโพลีแลคติค แอซิด ที่ จ.นครสวรรค์ 2)โครงการไบโอ ฮับ เอเซีย จ.ฉะเชิงเทรา ซึ่งมีนักลงทุนหลายรายจากต่างประเทศที่สนใจร่วมลงทุนในโครงการ เช่น เนเธอร์แลนด์ สหรัฐอเมริกา แคนาดา เยอรมนี สหราชอาณาจักร จีน ฝรั่งเศส 3)โครงการลพบุรีไบโอคอมเพล็กซ์ จ. ลพบุรี อยู่ระหว่างออกแบบโครงการและเจรจากับนักลงทุนที่สนใจ

น.ส.รัชดา กล่าวต่อว่า สำหรับมาตรการส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมนี้ ทางคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ได้กำหนดสิทธิประโยชน์การยกเว้นภาษีเงินได้ นิติบุคคลเป็นระยะเวลา 8-13 ปี ขึ้นอยู่กับประเภทกิจการและคุณค่าของโครงการ รวมถึงสิทธิและประโยชน์ อื่น ๆ อาทิ ยกเว้นอากรขาเข้าเครื่องจักร ยกเว้นอากรขาข้าวของที่นำเข้ามาใช้ในการวิจัยและพัฒนา ขณะเดียวกัน รัฐบาลยังได้สร้างแรงจูงใจเพื่อเพิ่มความต้องการการใช้พลาสติกย่อยสลายทางชีวภาพ โดย สศอ.ได้ออกใบรับรองผลิตภัณฑ์พลาสติกย่อยสลายได้ทางชีวภาพที่ผ่านหลักเกณฑ์แก่ผู้ผลิต สามารถใช้เป็นหลักฐานประกอบการยื่นขอลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นจำนวน 1.25 เท่าของค่าใช้จ่ายที่ซื้อผลิตภัณฑ์พลาสติกย่อยสลายได้ รวมทั้ง สศอ. และ กระทรวงการคลังอยู่ระหว่างการพิจารณาขยายระยะเวลามาตรการกระตุ้นการใช้พลาสติกย่อยสลายได้ทางชีวภาพ (Green Tax Expense) ออกไปอีกระยะหนึ่ง ซึ่งมาตรการนี้จะจูงใจให้ร้านค้าเปลี่ยนมาใช้ผลิตภัณฑ์พลาสติกย่อยสลายได้ทางชีวภาพ ปีละไม่ต่ำกว่าร้อยละ 10 ของปริมาณการบริโภคผลิตภัณฑ์พลาสติกชนิดสิ้นเปลืองทั้งหมด ได้แก่ ถุงหูหิ้ว ถุงขยะ แก้วพลาสติก ช้อนส้อมมีดพลาสติก หลอดพลาสติก และภาชนะพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว

“อุตสาหกรรมชีวภาพถือเป็นอุตสาหกรรมใหม่ที่ประเทศไทยมีศักยภาพด้านการผลิต จากการเป็นแหล่งวัตถุดิบทางชีวภาพที่หลากหลาย นำมาแปรรูปด้วยเทคโนโลยี ซึ่งจะช่วยเพิ่มมูลค่าแก่สินค้าเกษตรได้หลายเท่า หรืออาจมากเกินร้อยเท่า อุตสาหกรรมนี้กำลังเติบโตตามแนวโน้มความต้องการของตลาดโลก ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการพัฒนาในภาคการเกษตรที่เชื่อมโยงสู่ภาคอุตสาหกรรม เกิดการสร้างงาน สร้างรายได้แก่เกษตรกรไทย และเป็นอุตสาหกรรมที่สำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจประเทศในระยะต่อไป” น.ส.รัชดา กล่าว

แสดงความเห็น