กมธ.แก้รธน. หั่นทิ้ง 4 มาตรา หวั่นมีปัญหา-ตีความต้องทำประชามติ

นายนิกร จำนง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคชาติไทยพัฒนา ฐานะเลขานุการคณะกรรมาธิการ (กมธ.) พิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ (ฉบับที่…) พ.ศ….  (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 83 และมาตรา 91 ว่าด้วยระบบเลือกตั้ง) รัฐสภา ให้สัมภาษณ์ถึงผลการพิจารณากมธ. เพื่อทบทวนเนื้อหา ว่า กมธ.มีมติให้ปรับปรุงร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ  และเสนอต่อรัฐสภาใหม่ ใน 3 ประเด็นเท่านั้น คือ  มาตรา 83, มาตรา 86 มาตรา 91 และ บทเฉพาะกาล ว่าด้วยข้อกำหนดไม่ให้ใช้บทบัญญัติที่แก้ไขใหม่ กับการเลือกตั้งที่ไม่ใช่การเลือกตั้งส.ส.ทั่วไป โดยที่ประชุมได้อภิปรายและลงมติโดยมีผลการออกเสียงที่ชนะขาด  สำหรับมาตราที่ตัดออกไป มี 4 มาตรา ได้แก่  มาตรา 85, มาตรา 92,  มาตราที่ให้ยกเลิกมาตรา 94, มาตราที่ให้ยกเลิกวรรคสามของมาตรา 105 และบทเฉพาะกาล มาตราว่าด้วยการกำหนดระยะเวลาให้รัฐสภาตราพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. ภายใน 120 วัน และหากไม่สามารถทำให้เสร็จได้ทันการเลือกตั้งส.ส.ทั่วไป กำหนดอำนาจ กกต. ออกประกาศกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการเลือกตั้งส.ส.ให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญที่แก้ไขไปพลางก่อน  

“การปรับแก้ นั้น กมธ. เห็นว่าควรแก้ไขเท่าที่จำเป็น แม้จะไม่สวยงาม แต่หากความสวยงาม ถูกท้วงติง ว่าไม่ถูกต้อง  ความสวยงามต้องแก้ไข แม้จะสวยไม่มาก แต่ทำให้ถูก และได้รับความเห็นชอบทั้งหมด จะเป็นสิ่งที่ดี และแม้การทบทวนนั้นจะปรับแก้รายละเอียด เชื่อว่าจะไม่มีปัญหากับการเลือกตั้ง ตามอำนาจของกกต.”  นายนิกร กล่าว

นายนิกร กล่าวถึงเหตุผลที่ทบทวนและปรับออก 4 มาตรา นั้น เพราะบางมาตรา คงไว้ตามบทบัญญัติเดิมไม่สร้างความเสียหายหรือกระทบต่อการเลือกตั้ง เนื่องจากหลักการที่เป็นหัวใจ คือ บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ, ส.ส.แบ่งเขต 400 เขต และบัญชีรายชื่อ 100 คน รวมถึงได้ระบบการคำนวณคะแนนแบบที่ต้องการแล้ว ส่วนที่ต้องตัดมาตราบางส่วนออกไป เพราะกังวลว่าอาจเข้าไปกินความอำนาจ หน้าที่ของกกต. ฐานะองค์กรอิสระ และอาจตีความให้เกิดการนำไปทำประชามติ ที่ต้องใช้งบประมาณ 3,000 ล้านบาท ซึ่งไม่เหมาะสมกับสถานการณ์ประเทศ 

แสดงความเห็น