บัตรเลือกตั้ง2ใบ ถึงจุดไคลแมกซ์ ผ่านฉลุยหรือล้มกระดาน

เส้นทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราเพื่อแก้ไขเปลี่ยนแปลงระบบการเลือกตั้ง ส.ส. จากบัตรใบเดียว เป็นบัตรเลือกตั้งสองใบ มาถึงจุดไคลแมกซ์อีกครั้ง  เพราะจนถึงขณะนี้ ก็ยังไม่แน่ร้อยเปอร์เซ็นต์ว่า บัตรเลือกตั้งสองใบ จะฉลุยหรือจะร่วง ไปไม่ถึงฝั่งฝัน ที่ “พลังประชารัฐ-เพื่อไทย-ประชาธิปัตย์” ต้องการหรือไม่ 

เพราะในสัปดาห์นี้ คืออังคารที่ 24 และพุธที่ 25 สิงหาคม ที่ประชุมรัฐสภา มีคิวจะพิจารณา “ร่างแก้ไขรธน.รายมาตรา” ที่คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ของรัฐสภา ที่มี ไพบูลย์ นิติตะวัน จากพลังประชารัฐ เป็นประธาน ที่ได้พิจารณาร่างแก้ไขรธน.มาตรา 83 และ 91 ตามร่างของพรรคประชาธิปัตย์ ที่รัฐสภาโหวตเห็นชอบเสร็จเรียบร้อยแล้ว 

ซึ่งสาระสำคัญตามร่างฯ ก็คือ เป็นร่างแก้ไขรธน.ที่เสนอให้แก้ไขระบบการเลือกตั้งจากรธน.ฉบับปัจจุบัน ที่ใช้ “บัตรเลือกตั้งใบเดียว” แล้วนำคะแนนที่แต่ละพรรคการเมืองได้จากการรวมคะแนนของผู้สมัครส.ส.ระบบเขตทั่วประเทศมารวมกัน แล้วนำจำนวนส.ส.ตามรัฐธรรมนูญคือ 500 คนมาหาจำนวนส.ส.ที่แต่ละพรรคการเมืองพึงมีในสภาฯ โดยในร่างแก้ไขรธน. ได้มีการเสนอแก้ไขใหม่ให้เป็นระบบการเลือกตั้งแบบ “บัตรสองใบ” แยกคะแนนผู้สมัคร ส.ส. เขตและผู้สมัครส.ส.บัญชีรายชื่อออกจากกัน 

นอกจากนี้ในร่างแก้ไขรธน.ของกมธ.ฯ ยังแก้ไขจำนวนและที่มาของส.ส. จากรัฐธรรมนูญ ฉบับปัจจุบันที่ให้มีส.ส.เขต 350 คนและส.ส.บัญชีรายชื่อ 150 คน ก็มีการแก้ไขเป็น ให้มีส.ส.เขต 400 คน และส.ส.บัญชีรายชื่อ 100 คน 

พูดง่ายๆ ก็คือ เป็นระบบการเลือกตั้งที่เคยใช้มาแล้ว ในรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 ที่ถูกนำไปใช้ในการเลือกตั้งเมื่อปี 2544 และ 2548 ที่ทำให้ ทักษิณ ชินวัตร และพรรคไทยรักไทย ชนะการเลือกตั้ง แบบแลนด์สไลด์มาแล้วนั่นเอง 

ทั้งนี้ การพิจารณาของรัฐสภาในวันที่  24-25 ส.ค.นี้ จะเป็นการพิจารณาในวาระสอง พิจารณาเรียงรายมาตรา และหากเสร็จสิ้นการพิจารณาวาระสอง โดยถ้าทุกอย่างผ่านไปได้ด้วยดี จะต้องเว้นไว้ไม่น้อยกว่า 15 วัน จากนั้นถึงจะมาประชุมรัฐสภาเพื่อโหวตวาระสาม ที่เป็นการโหวตว่า 

“รัฐสภา จะให้ความเห็นชอบหรือไม่ให้ความเห็นชอบร่างแก้ไขรธน.รายมาตรา”

ซึ่งหากร่างแก้ไขรธน.ผ่านวาระสาม ก็ต้องรออีกไม่น้อยกว่า  15 วัน นายกรัฐมนตรี ถึงจะนำร่างแก้ไขรธน.ขึ้นทูลเกล้าฯได้ จากนั้น พอมีการโปรดเกล้าฯลงมา ก็จะเข้าสู่ขั้นตอน ต้องไปแก้ไข “พ.ร.บ.การเลือกตั้งส.ส.ฯ” เพื่อแก้ไขระบบการเลือกตั้ง ให้สอดรับกับรัฐธรรมนูญที่แก้ไขใหม่นั่นเอง ที่กระบวนการดังกล่าว ทางพลังประชารัฐ วางคิวไว้ว่าต้องการให้แล้วเสร็จในสมัยประชุมสภาฯสมัยหน้าคือประมาณช่วงสิ้นปี หรือปลายเดือนธันวาคม แต่หากไม่ทัน ก็ไม่เกินมกราคมปีหน้า และหากทุกอย่างเป็นไปตามนี้ นั่นหมายถึง หากจะมีอะไรเกิดขึ้นทางการเมือง เช่น พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เกิดถอดใจ แล้วเลือกจะ “ยุบสภาฯ” ก็ทำได้แล้ว หรือแม้แต่ หากมีการแก้ไขรธน.สำเร็จแล้ว แต่ยังแก้ไขพ.ร.บ.เลือกตั้งไม่เสร็จ แต่ดันเกิดมีการยุบสภาฯ ก่อน ก็พบว่ากรรมาธิการและส.ส.เพื่อไทย ก็ไม่ประมาท โดยมีการเสนอแปรญัตติและเขียนล็อกไว้ว่า หากการแก้ไขพ.ร.บ.เลือกตั้งส.ส.ฯ  ไม่แล้วเสร็จ ทั้งที่รัฐธรรมนูญแก้ไขเสร็จไปแล้ว แต่ดันเกิดมีการเลือกตั้งเกิดขึ้นก่อน ก็ให้ “คณะกรรมการการเลือกตั้ง” มีอำนาจในการออกระเบียบ-ข้อบังคับต่างๆ ในการเลือกตั้งส.ส. ให้สอดคล้องกับ การเลือกตั้งตามกติกาใหม่ ของรัฐธรรมนูญ

ที่แสดงให้เห็นว่า ฝ่ายค้าน ก็เกรงเหมือนกันว่า หากแก้ไขรธน.เสร็จ แต่กฎหมายลูก ทำไม่ทัน แล้วเกิดบิ๊กตู่ ยุบสภาฯ ขึ้นมา จะกลายเป็นสุญญากาศการเมืองได้ ก็เลยเขียนล็อกไว้ เพื่อไม่ให้เกิดปัญหา จัดการเลือกตั้งไม่ได้ 

เหมือนกับ เพื่อไทย จะเชื่อว่า หากบิ๊กตู่ ไปต่อไม่ได้ ก็อาจยุบสภาฯ มากกว่าลาออก เลยต้องเขียนล็อกไว้ ไม่ให้เกิดปัญหา จัดเลือกตั้งไม่ได้ ประเทศเกิดสุญญากาศ จนทหาร ต้องลากรถถัง ออกมาแก้ปัญหา แบบในอดีต!

อย่างไรก็ตาม ดูจากสถานการณ์ตอนนี้ ถึงแม้สามพรรค “พปชร.-พท.-ปชป.” จับมือกันแก้รธน.เพื่อเปลี่ยนระบบเลือกตั้งที่สามพรรคดังกล่าวเชื่อว่า หากแก้แล้ว พรรคตัวเองจะได้ประโยชน์มากกว่าบัตรใบเดียว แต่พบว่า เส้นทางของการแก้ไขรธน. ก็ใช่ว่าจะราบรื่น เพราะดูแล้ว ก็มีปัญหาในเชิง “เทคนิคข้อกฎหมาย” ที่ยังมีความเห็นแตกต่างกันอยู่ เหมือนกัน 

เนื่องจากร่างแก้ไขรธน.ที่ผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภา ที่เป็นร่างของประชาธิปัตย์ โดยที่ร่างของพลังประชารัฐกับของเพื่อไทย โดนส.ว.คว่ำกลางสภาฯ โดยที่ประชาธิปัตย์ เองก็คงนึกไม่ถึง เพราะคงนึกว่า ร่างฯ จะผ่านหมดทั้งสามพรรค โดยเฉพาะของพลังประชารัฐ ซึ่งในร่างฯดังกล่าว มีการเขียนแก้เรื่องระบบเลือกตั้ง ในมาตรา 83 และ 91 ของรัฐธรรมนูญ โดยไม่มีรายละเอียดมากเท่าของพลังประชารัฐกับเพื่อไทย 

ทางกรรมาธิการเสียงข้างมากโดยเฉพาะจากพปชร.-พท.-ปชป. เลยใช้วิธี งัด “ข้อบังคับการประชุมรัฐสภา พ.ศ. 2563” มาแก้ปัญหา จนปรากฏในรายงานร่างแก้ไขรธน.ของกมธ.ฯ ว่า มีการไปแก้ไข รธน.มาตรา 85 ,86,92, 93, 94  โดยอ้างว่าสามารถทำได้ เพราะข้อบังคับเปิดช่องไว้ว่า การแปรญัตติเพิ่มมาตราขึ้นมาใหม่หรือตัดทอน หรือแก้ไขมาตราเดิม ทำได้ ขอเพียงต้องไม่ขัดกับหลักการเรื่องการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ 

อย่างไรก็ตาม ทางกมธ.ฯ เสียงข้างน้อย และพรรคการเมืองที่คัดค้าน ไม่เอาด้วยกับ “บัตรสองใบ” ซึ่งที่แสดงออกมากที่สุด ก็คือ “พรรคก้าวไกล” ที่เป็นพรรคการเมืองที่ได้ประโยชน์มากที่สุดจากบัตรใบเดียวและระบบเลือกตั้งที่ใช้ตอนเลือกตั้งปี 2562 เห็นได้จาก พรรคก้าวไกลหรืออนาคตใหม่เดิม ได้ส.ส.บัญชีรายชื่อถึง 50 ที่นั่ง จาก 150 ที่นั่ง หรือเท่ากับ 1 ใน 3 เลยทีเดียว 

ดังนั้น เอาแค่ง่ายๆ หากแก้ระบบเลือกตั้งโดยลดจำนวนส.ส.บัญชีรายชื่อลงเหลือแค่ 100 คน พรรคก้าวไกล ก็จะได้ส.ส.บัญชีรายชื่อลดลง เรียกได้ว่า หายไปครึ่งต่อครึ่ง โดยบางฝ่ายถึงขั้นประเมินว่า อาจหนักกว่านั้น คือพรรคก้าวไกล อาจจะได้ส.ส.ภายใต้ระบบบัตรเลือกตั้งสองใบ แค่ไม่กี่นั่งเท่านั้น

เว้นแต่ เกมพลิก กระแส พรรคก้าวไกล แรงจริงตอนเลือกตั้ง  แต่ถ้าดูจากสถานการณ์การเมืองปัจจุบันผสมกับกติการะบบบัตรสองใบ หลายฝ่ายมองตรงกันว่า หากแก้รธน.สำเร็จ  พรรคก้าวไกล จะเป็นพรรคที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด จำนวนส.ส.น่าจะหายไปเกินครึ่ง  จึงไม่แปลกที่ พรรคก้าวไกล ไม่เอาด้วยกับการแก้ไขรธน.ครั้งนี้ จนไม่ยอมส่งส.ส.ไปร่วมลงชื่อแก้ไขรธน.กับพรรคเพื่อไทย 

อีกทั้ง พยายามให้กมธ.แก้ไขรธน.ของพรรคก้าวไกล  ไปสู้ในกมธ.ให้ใช้ระบบบัตรสองใบก็ได้ แต่ให้เขียนกติกาว่าในเรื่องการคำนวณหาจำนวนส.ส.ที่แต่ละพรรคพึงมีในสภาฯ ให้ใช้ระบบแบบเยอรมัน ที่อย่างน้อย ก็ทำให้พรรคน่าจะได้ส.ส.กลับมาเท่าเดิม แต่ก็ไม่สำเร็จ เพราะกมธ.จากพปชร.-พท.-ปชป. และส.ว.ไม่เอาด้วยกับสูตรของก้าวไกล 

กระนั้น พรรคก้าวไกล ยังไม่ยอมแพ้ ยังคงดิ้นรน ขวางบัตรสองใบต่อไปให้ถึงที่สุด 

ล่าสุด ส.ส.พรรคก้าวไกลเกือบทั้งพรรคได้ร่วมกันลงชื่อ เสนอ “ญัตติด่วน” เพื่อขอให้ ที่ประชุมร่วมรัฐสภา วินิจฉัยตีความ ข้อบังคับการประชุมรัฐสภา เป็นวาระเร่งด่วน ก่อนที่รัฐสภาจะพิจารณารายงานแก้ไขรธน.ของกมธ.ฯในวันที่ 24-25 ส.ค.นี้ 

ญัตติดังกล่าวที่ส.ส.พรรคก้าวไกลร่วมกันลงชื่อ เพื่อหวังขวางการแก้ไขรธน.ให้ได้ สาระสำคัญก็คือ ยืนยันว่า ร่างแก้ไขรธน.ของกมธ.เสียงข้างมาก ฯ ไปเขียนแก้ไขรธน.เกินกว่าร่างเดิมที่ผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภาวาระแรก จึงเป็นการตีความขยายเกินหลักการ ถือเป็นการกระทำที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ กฎหมายและหลักนิติธรรม จึงขอให้ที่ประชุมร่วมรัฐสภา พิจารณาตีความข้อบังคับการประชุมรัฐสภา โดยนำร่างแก้ไขรธน.ของกมธ.มาพิจารณาประกอบว่า ได้ทำเกินกว่าที่ข้อบังคับเขียนไว้หรือไม่

ต้องดูกันว่า ประชุมรัฐสภาสัปดาห์หน้านี้  เสียงส่วนใหญ่ในที่ประชุมร่วมรัฐสภาจะเอากันอย่างไร จะเดินหน้าพิจารณาและลงมติให้รู้ดำรู้แดงไปเลย ว่า สิ่งที่กรรมาธิการ ฯ ทำมาถูกต้องแล้ว เพื่อให้การแก้ไขรธน.เดินหน้าต่อไป  หรือจะใช้วิธี เพลย์เซฟ โดยไม่ชี้ขาดใดๆ เพื่อไม่ให้มัดตัวเองแล้วใช้วิธี มีมติที่ประชุมรัฐสภา ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ซึ่งวิธีนี้ ก็เสี่ยงไม่น้อย เพราะไม่แน่ ร่างแก้ไขรธน.อาจถูกล้มกระดานอีกครั้งก็ได้  หากว่า กมธ.ฯ ไปทำร่างแก้ไขรธน.เกินกว่าขอบเขตที่ทำได้จริง!

ญัตติด่วนดังกล่าว คือหมากแรกในกระดานใหม่ ของพรรคก้าวไกล ในการ “ขวางบัตรสองใบ-เปลี่ยนระบบเลือกตั้ง”    ซึ่งถ้าที่ประชุมรัฐสภา ไฟเขียว ให้เดินหน้าแก้ไขรธน.โดยไม่ฟังเสียงทัดทานจากพรรคก้าวไกล ก็ต้องรอดูต่อไปว่า ก่อนรัฐสภาโหวตวาระสาม พรรคก้าวไกล จะยังคงขวางอีก ด้วยการ ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้ตัดสินเองหรือไม่ หรือจะยอมแพ้แต่โดยดี ถ้าประเมินว่า ยากจะขวางได้สำเร็จ 

ขณะที่พรรคอื่น ๆอย่าง “ภูมิใจไทย” ก็เป็นอีกหนึ่งพรรค ที่ไม่เอาด้วยกับบัตรสองใบ มาตลอด จึงน่าจับตาเช่นกันว่า ภูมิใจไทย จะเอาอย่างไรกับเรื่องนี้ จะลอยตัวให้ ก้าวไกล ขวางเพียงพรรคเดียว หรือจะยอมลงมาเล่นด้วย โดยจับมือกับพรรคเล็ก พวกพรรคที่มีส.ส.ไม่ถึงสิบคน ขวางบัตรสองใบในช่วงโค้งสุดท้าย แม้รู้ดีว่า ยากจะขวางได้สำเร็จ เพราะหาก พปชร.-พท.-ปชป.จับมือกัน แล้วมีส.ว.อีกแค่จำนวนหนึ่ง เอาด้วย  การแก้ไขรธน. ก็ผ่านฉลุยเพราะกุมความได้เปรียบเรื่องจำนวนเสียงโหวตในรัฐสภา 

การวางหมาก คิดล้มกระดาน บัตรสองใบของพรรคก้าวไกลและอีกหลายพรรค ที่รอลุ้นอยู่เงียบๆ ความเป็นไปได้ที่น่าจะหวังได้มากที่สุด ก็คือ ต้องใช้ “เทคนิคข้อกฎหมาย” ในจุดที่กมธ.ฯ เปิดช่องโหว่เอาไว้ โดยหวังพึ่ง ศาลรัฐธรรมนูญ คอยช่วยสกัด  

ถึงตอนนี้ เส้นทางการแก้ไขรธน. เพื่อเปลี่ยนระบบเลือกตั้งกลับใช้ บัตรสองใบ  แม้เส้นทาง สำเร็จน่าจะเป็นไปได้มาก แต่ก็ชะล่าใจไม่ได้ เพราะยังมีเปอร์เซ็นต์ที่อาจเสี่ยงโดนล้มกระดานได้เช่นกัน ถ้าเกมพลิก  

Exit mobile version