ทร.แจงชะลอเรือดำน้ำเพื่อความเหมาะสมต่อวิกฤตโควิด ย้ำจัดหาตามยุทธศาสตร์ ป้องอธิปไตย

พล.ร.อ.เชษฐา ใจเปี่ยม โฆษกกองทัพเรือ แถลงชี้แจงกรณีชะลอโครงการจัดหาเรือดำน้ำลำที่ 2 และ 3 โดยไม่ขอรับการจัดสรรงบประมาณของโครงการฯ ซึ่งปรากฏรายการอยู่ในร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2565 ว่า ตามที่ประชาชนและสื่อมวลชน ได้ทราบข่าวการขอชะลอโครงการจัดหาเรือดำน้ำลำที่ 2   และ 3 โดยไม่ขอรับการจัดสรรงบประมาณของโครงการฯ ซึ่งปรากฏรายการอยู่ในร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2565 ซึ่งพล.ร.อ.ชาติชาย ศรีวรขาน ผู้บัญชาการทหารเรือ ได้แถลงต่อ คณะกรรมาธิการวิสามัญ พิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565/สภาผู้แทนราษฎร ในวันที่ 19 กรกฎาคมนี้ ไปแล้วนั้น

พล.ร.อ.เชษฐา กล่าวว่า ขอเรียนชี้แจงเป็นประเด็นดังต่อไปนี้ กองทัพเรือได้เสนอขอรับการจัดสรรงบประมาณสำหรับโครงการจัดหาเรือดำน้ำ ลำที่ 2 และลำที่ 3 ซึ่งเป็นไปตามยุทธศาสตร์ของกองทัพเรือ และเป็นหน้าที่ที่กองทัพเรือจะต้องเตรียมกำลังรบที่มีความจำเป็น สำหรับการปกป้องอธิปไตยทางทะเล การดำรงเส้นทางคมนาคมทางทะเลให้ได้อย่างต่อเนื่อง ตลอดจนการคุ้มครองและรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล ซึ่งมีมูลค่ามหาศาลกว่า 22.89 ล้านล้านบาทนั้น ทั้งนี้การเตรียมกำลังรบในยามปกติ จึงเป็นเรื่องที่มีความสำคัญและจำเป็นอย่างยิ่ง ที่จะต้องเตรียมความพร้อมทั้งองค์บุคคล องค์วัตถุ และองค์ยุทธวิธี ให้มีความพร้อมสูงสุดอยู่ตลอดเวลา นอกจากนี้กองทัพเรือยังมีภารกิจสำคัญอื่นๆ อีกมากมายในการสนับสนุนรัฐบาลเพื่อช่วยเหลือประชาชนและพัฒนาประเทศ ซึ่งกองทัพเรือมีความตระหนักและให้ความสำคัญในทุกภารกิจหน้าที่ที่กองทัพเรือรับผิดชอบ และต้องเตรียมการให้มีความพร้อมสูงสุดที่จะเผชิญภัยคุกคามในทุกรูปแบบ โดยไม่ย่อท้อ และพร้อมที่จะปกป้องอธิปไตยของชาติทางทะเลตราบชีวิตจะหาไม่ ซึ่งกองทัพเรือได้พิจารณาไตร่ตรองโดยถี่ถ้วนแล้ว เห็นว่ามีความจำเป็นต้องจัดหาเรือดำน้ำไว้ประจำการจำนวน 3 ลำ จะสามารถปฏิบัติการได้ครอบคลุมทั้ง 2 ฝั่งทะเล ได้อย่างมีประสิทธิภาพ รองรับต่อภารกิจและหน้าที่ที่กองทัพเรือรับผิดชอบ และยังเป็นการเพิ่มศักยภาพทางทะเลของกองทัพเรือไทยให้มีมากยิ่งขึ้นเป็นอย่างมาก ดังนั้นการจัดหาเรือดำน้ำ จึงเป็นหนทางที่มีความเหมาะสมและเกิดความคุ้มค่าสูงสุดกับการใช้งบประมาณจากภาษีของประชาชน 

พล.ร.อ.เชษฐา กล่าวว่า จากสถานการณ์วิกฤตของการแพร่ระบาดของโควิด 19 ที่เกิดขึ้นนับตั้งแต่ปี พ.ศ.2562 กองทัพเรือได้ให้ความสำคัญในการระดมสรรพกำลังทุกรูปแบบเพื่อช่วยเหลือประชาชนอย่างเต็มกำลังความสามารถเท่าที่จะกระทำได้ อาทิเช่น การจัดตั้งสถานที่กักตัวที่รัฐจัดให้แห่งแรก  การจัดตั้ง รพ.สนาม การจัดกำลังพลสนับสนุน ศปค.ในการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดฯ  การดูแลและช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่รับผิดชอบอย่างต่อเนื่อง เป็นต้น  ทั้งนี้กลาโหมและกองทัพเรือไปพิจารณาถึงความเป็นไปได้ ประกอบกับกองทัพเรือได้ประเมินสถานการณ์ในภาพรวมร่วมกับทรวงกลาโหมแล้ว เห็นว่ารัฐบาลมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องใช้งบประมาณจำนวนมากในการช่วยเหลือประชาชนในยามทุกข์ยากเช่นนี้ เพื่อช่วยในการแก้ไขปัญหาและทำให้สถานการณ์การแพร่ระบาดที่มีความวิกฤต กลับสู่ภาวะปกติโดยเร็วที่สุด  อีกทั้งในส่วนของการดำเนินการด้านงบประมาณนั้น กองทัพเรือได้ส่งคืนงบประมาณในปี 2563 จำนวน 3,375 ล้านบาท ปี 2564 จำนวน 3,925 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนให้รัฐบาล สามารถบริหารจัดการให้เกิดประโยชน์สูงสุดในภาพรวม ตามความจำเป็นเร่งด่วนต่อไป โดยการดำเนินการเสนอของบประมาณจัดหาเรือดำน้ำเพิ่มเติมอีกจำนวน 2 ลำ ในปี 2565 กองทัพเรือได้พิจารณาถึงความเหมาะสมด้านงบประมาณที่ไม่เป็นการใช้งบประมาณแต่ละปีมากจนเกินไป โดยได้มีการเจรจากับทางฝ่ายจีนให้สามารถแบ่งจ่ายเงินสำหรับโครงการจัดหาเรือดำน้ำอีก 2 ลำที่เหลือ เป็นเวลาถึง 6 ปี ซึ่งสามารถจ่ายเงินงวดแรกในปีงบประมาณ 65 ที่กำลังพิจารณานี้ เพียง 900 ล้าน จาก ยอดรวม จำนวน 22,500 ล้านบาท ของมูลค่าเรือดำน้ำทั้ง 2 ลำ ทั้งนี้เงินดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของงบประมาณปกติของกองทัพเรืออยู่แล้ว มิได้เป็นงบประมาณที่ขอใหม่แต่อย่างใด 

“จากสถานการณ์วิกฤตดังกล่าวที่มีความรุนแรงมากยิ่งขึ้นตามลำดับและส่งผลกระทบต่อประชาชนเป็นอย่างมาก จึงทำให้กองทัพเรือได้พิจารณาร่วมกับกระทรวงกลาโหม เพื่อหาหนทางปฏิบัติที่มีความเหมาะสม และสอดคล้องกับสถานการณ์วิกฤตในปัจจุบัน โดยคำนึงถึงผลประโยชน์ของชาติและประชาชนเป็นที่ตั้ง จึงขอชะลอโครงการจัดหาเรือดำน้ำ ลำที่ 2 และ 3 ไปก่อน โดยไม่ขอรับการจัดสรรงบประมาณของโครงการจัดหาเรือดำน้ำ ลำที่ 2 และลำที่ 3 ซึ่งปรากฏรายการอยู่ในร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2565  ทั้งนี้การชะลอการจัดหาเรือดำน้ำออกไปในครั้งนี้ เนื่องจากเป็นการจัดหาในลักษณะรัฐบาลต่อรัฐบาล  ที่รัฐบาลจีนให้ความช่วยเหลือทางทหารหลายรายการ จึงอาจส่งผลกระทบบางประการที่กองทัพเรือจะต้องไปดำเนินการเจรจากับรัฐบาลจีน เพื่อสร้างความเข้าใจถึงเหตุผลความจำเป็นของการชะลอโครงการดังกล่าว และไม่กระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และยังคงความพร้อมที่จะให้การสนับสนุนความช่วยเหลือทางทหารกับกองทัพเรือต่อไป สุดท้ายนี้กองทัพเรือหวังเป็นอย่างยิ่งว่า การพิจารณาของกองทัพเรือในครั้งนี้ จะเกิดประโยชน์แก่ประชาชนคนไทยในสถานการณ์ที่เหมาะสม ตลอดจนเป็นส่วนหนึ่งของการช่วยแก้ไขปัญหาของชาติอันเป็นที่รักของพวกเราทุกคน ตลอดจนลดความขัดแย้งทางความคิด อันจะนำไปสู่การมีความสมัครสมาน สามัคคี ที่จะเป็นพลังอันยิ่งใหญ่ในการขับเคลื่อนประเทศไทยให้รอดพ้นจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด -19 ได้อย่างเป็นรูปธรรมต่อไป” พล.ร.อ.เชษฐา กล่าว

แสดงความเห็น