ม็อบ 18 ก.ค.ยังไม่เข้าเป้า “โทนี่” ลุ้นยุบสภาฯ ส่อวืด!

ผ่านไปอีกหนึ่งแมทช์กับการนัดชุมนุมทางการเมืองของกลุ่ม แนวร่วมราษฎร -ม็อบปลดแอก หรือม็อบสามนิ้ว ที่เคลื่อนไหวเพื่อกดดัน พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ให้ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี  ที่ชุมนุมกันไปเมื่อวันอาทิตย์ที่ 18 ก.ค.ที่ผ่านมา 

ภายใต้สามข้อเรียกร้อง ในรอบนี้คือ 1. พล.อ.ประยุทธ์ ต้องลาออกโดยไม่มีเงื่อนไข 2. ปรับลดงบสถาบัน-กองทัพ สู้โควิด 3. เปลี่ยนวัคซีนหลัก เป็นชนิด mRNA

จากสภาพการชุมนุมตลอดหลายชั่วโมงที่ผ่านไป ที่นัดรวมตัวกันที่ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ถนนราชดำเนินกลางและพยายามเคลื่อนไปยังหน้าทำเนียบรัฐบาลแต่ถูกตำรวจสกัด จนเกิดการเผชิญหน้ากันตามภาพข่าวที่ถูกเผยแพร่อย่างกว้างขวาง 

กิจกรรมการชุมนุม ดังกล่าว ในทางการเมือง ปฏิเสธไม่ได้ว่า รูปขบวนการเคลื่อนไหว ผิดจากที่หลายคนแม้แต่แกนนำม็อบสามนิ้ว เคยคาดการณ์ไว้พอสมควร

เพราะเดิมที ก่อนหน้านี้ คนก็ประเมินกันว่า แม้ตอนนี้ ยอดผู้ติดเชื้อโควิดในประเทศ จะทะลุหลักเก้าพัน จนถึงหลักหมื่นในวันชุมนุม ที่ทำให้คนน่าจะกลัวติดเชื้อโควิด เลยไม่น่าจะออกมาไปร่วมชุมนุมมาก ระดับหลักหลายหมื่นอย่างที่แกนนำม็อบสามนิ้ว ปั่นกระแสมาตลอด แต่คนก็ยังประเมินกันว่า แต่เนื่องจาก ที่ผ่านมา รัฐบาลเพลี่ยงพล้ำ มีปัญหาเรื่องการบริหารจัดการวัคซีนอย่างมาก จนกระแสประชาชนไม่พอใจรัฐบาลมีสูง ยิ่งรัฐบาล-ศบค. ออกมาตรการล็อกดาวน์-เคอร์ฟิว ออกมาร่วมหนึ่งสัปดาห์ จนกระทบกับการทำมาหากินและการใช้ชีวิตของประชาชนจำนวนมาก แต่ผลที่ออกมา ตัวเลขผู้ติดเชื้อไม่ลดลงแบบฮวบฮาบ แถมมีแนวโน้มจะเพิ่มสูงขึ้นอีก คนก็เลยคิดกันว่า ยังไง คนก็น่าจะออกมาร่วมกิจกรรมการชุมนุมจำนวนหนึ่งพอสมควร ระดับหลายพันคน โดยเฉพาะกลุ่มชนชั้นกลาง -คนที่ได้รับผลกระทบจากโควิด แต่ภาพที่ออกมาตลอดการเคลื่อนไหว ก็ยังพบว่า เป็นภาพการเคลื่อนไหวแบบเดิมๆ เหมือนก่อนหน้านี้ คนไม่เยอะอย่างที่คาดการณ์ 

พูดง่าย ๆ สภาพม็อบเมื่อ 18 ก.ค. ยังเป็นม็อบที่ไม่สามารถกดดันทางการเมืองรัฐบาลได้ หลังก่อนหน้านี้ ก็เคยนัดชุมนุมกันมาทีหนึ่งแล้วเมื่อ 2 ก.ค. ที่แยกอุรุพงษ์และถนนพิษณุโลก ซึ่งรอบนั้น คนก็ยังออกมาร่วมกิจกรรมไม่มากเช่นกัน   

เมื่อดูจากการเคลื่อนไหวของม็อบคณะราษฎร -กลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม สองนัดที่ผ่านมาดังกล่าว ทำให้  หากแกนนำม็อบคณะราษฎร คิดจะขับเคลื่อนการเมืองต่อไปเพื่อกดดันพลเอกประยุทธ์ คงต้องรอเวลาที่เหมาะสม สถานการณ์สุกงอมพอสมควร ในการที่จะมีคนมาร่วมชุมนุมได้จำนวนมากพอ จนสร้างแรงกดดันต่อรัฐบาลได้ ที่ก็อาจเป็นช่วงที่สถานการณ์โควิดดีขึ้นกว่านี้ คนเลิกกังวลการติดเชื้อ รวมถึงไทม์มิ่งที่เหมาะสม เช่นหากไปถึงช่วงเดือนตุลาคมปีนี้ แล้ว ยอดคนฉีดวัคซีนอย่างน้อยเข็มแรก ยังไม่ถึงเป้าหมายที่ รัฐบาลเคยบอกไว้คือจะฉีดให้ได้ 50 ล้านคน และคนยังเดือดร้อนจากปัญหาเศรษฐกิจกันจำนวนมาก ถึงตอนนั้น สถานการณ์อาจพาไป ทำให้คนออกมาร่วมชุมนุมจำนวนมากพอ จนสร้างแรงกดดันรัฐบาลได้มากกว่าช่วงชุมนุมสองครั้งที่ผ่านไป 

ซึ่งแรงกดดันทางการเมืองนอกรัฐสภาที่มีต่อพลเอกประยุทธ์ จนทำให้ บิ๊กตู่ต้องตัดสินใจ

“ลาออกหรือยุบสภาฯ”

อันเป็นฉากการเมืองที่ “ฝ่ายตรงข้ามรัฐบาล” โดยเฉพาะ “พรรคฝ่ายค้าน” คาดหวังไว้มาก  โดยเฉพาะ “พรรคเพื่อไทย” และตัว “ทักษิณ ชินวัตร” หรือ tony woodsome

เห็นได้จาก ที่ทักษิณ ประเมินสถานการณ์การเมืองไว้ ผ่านคลับเฮ้าส์เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ที่ทักษิณ วิเคราะห์ว่า ดูสถานการณ์แล้ว รัฐบาลน่าจะอยู่ต่อไปได้ยาก แต่เชื่อว่าจะพยายามลากต่อไปให้นานที่สุด อย่างน้อยก็ถึงสิ้นปีนี้ แล้วก็ยุบสภาฯ ดูแล้วคงยุบสภาปลายปีนี้หรือช้าสุดไม่เกินกุมภาพันธ์ปีหน้า  

แรงกดดันที่จะทำให้ คำพยากรณ์การเมืองของ ทักษิณ เป็นจริง ทุกคนเห็นตรงกันว่า จะอยู่ที่ 

“กระแสสังคม-แรงกดดันทางการเมืองนอกรัฐสภา” เป็นหลัก 

ที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ไม่ใช่เพราะเกิดจากผลพวงการเมืองในสภาฯ 

เนื่องจากตอนนี้ เสียงส.ส.รัฐบาลเกินกว่าส.ส.ฝ่ายค้านจำนวนมาก จึงยากที่จะล้มในสภาฯได้ แม้แต่กับ “ศึกซักฟอก” ที่ฝ่ายค้านประกาศแล้วว่าจะยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล โดยเฉพาะพลเอกประยุทธ์และอนุทิน ชาญวีรกูล รมว.สาธารณสุข ในช่วงก่อนปิดสมัยประชุมสภาฯ เดือนกันยายน 

ที่แม้ศึกซักฟอกรอบนี้ จะเกิดขึ้นในช่วง “บิ๊กตู่-เสี่ยหนู” กำลังอ่วมอรทัยทางการเมืองจากผลพวงโควิด จนฝ่ายค้านหวังว่า จะทำให้ การลงมติของส.ส.พรรคร่วมรัฐบาลโดยเฉพาะ “ประชาธิปัตย์” ถือโอกาสนี้ เล่นบท “พระเอก” ด้วยการไม่ลงมติไว้วางใจ หรืองดออกเสียง บิ๊กตู่-อนุทิน จนทำให้ เกิดปัญหาในพรรคร่วมรัฐบาล แล้วประชาธิปัตย์ ถอนตัวจากการร่วมรัฐบาล จนสุดท้าย บิ๊กตู่ ต้องยุบสภาฯ ช่วงกันยายน 

อย่างไรก็ตาม ความคาดหวัง ดังกล่าวของทักษิณ-เพื่อไทย  ยังเป็นเรื่องอีกไกลทางการเมือง ที่ต้องรอดูถึงตอนช่วงศึกซักฟอก 

แต่กระนั้น ก็ตามที ในทางการเมือง หากวิเคราะห์กันดูแล้ว ถ้า พรรคประชาธิปัตย์ ลงมาเล่นด้วยกับเกมนี้ ของเพื่อไทย-ฝ่ายค้าน โดยที่ การอภิปรายของฝ่ายค้าน ไม่มีหลักฐานกล่าวหา บิ๊กตู่-อนุทิน แบบจังๆ ว่าบริหารงานผิดพลาด หรือทุจริตเรื่องวัคซีน

มันก็ยากเหมือนกันที่ ประชาธิปัตย์ จะเดินตามเกมของฝ่ายค้าน เพราะเสี่ยงจะถูกมองว่า 

“หักหลังเพื่อน -โหนกระแส-เอาตัวรอด” 

ยิ่งหากประชาธิปัตย์ ต้องลงมาเล่นในเกมของ “เพื่อไทย-ทักษิณ” เพื่อทำให้เกิดการยุบสภาฯ เร็วขึ้น ทั้งที่อายุสภาฯ ยังเหลืออีกร่วม หนึ่งปีเก้าเดือน ด้วยแล้ว มันก็ยาก ที่ประชาธิปัตย์จะเอาด้วย 

เพราะเรื่องอะไร ที่ ประชาธิปัตย์ จะต้องมาเร่งเอาตัวเอง เข้าสู่สนามเลือกตั้งในยามนี้ ที่ประชาธิปัตย์ ก็ไม่ได้ มีจุดแข็งอะไรมากพอที่จะไปขายในสนามเลือกตั้ง สู้อยู่ร่วมเป็นรัฐบาล มีคนของพรรค นั่งเป็นเสนาบดีในกระทรวงพาณิชย์-เกษตรและสหกรณ์-สาธารณสุข-ศึกษาธิการ-พัฒนาสังคมฯ-มหาดไทย แบบตอนนี้จะดีกว่า 

ของแบบนี้มีหรือคนอย่าง “อู๊ดด้า -จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์” จะยอมปล่อยเก้าอี้ รองนายกฯ-รมว.พาณิชย์ของตัวเองง่ายๆ 

ด้วยเหตุนี้การที่ ทักษิณ-เพื่อไทย  จะไปคาดหวังว่า จะมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในพรรคร่วมรัฐบาล จนทำให้ บิ๊กตู่ ยุบสภาฯปลายปีนี้ หรือต้นปีหน้า แม้มีโอกาสเกิดขึ้นได้ แต่ก็ยากไม่น้อย หากแกนนำสามพรรคร่วมรัฐบาล พลังประชารัฐ-ภูมิใจไทย-ประชาธิปัตย์ ยังพอใจกับตำแหน่งแห่งหนของตัวเองในครม.อยู่ มันก็ยากจะไปหวังให้ พรรคร่วมรัฐบาลกระโดดออกจากเรือบิ๊กตู่ได้ง่ายๆ 

เพราะฉะนั้น หากจะทำให้ คำพยากรณ์การเมืองของทักษิณ ที่ว่าบิ๊กตู่ อยู่ไม่ครบเทอม จะยุบสภาปลายปีนี้หรือต้นปีหน้า เป็นจริง ตัวเร่ง จึงน่าจะอยู่ที่ แรงกดดันการเมืองนอกรัฐสภา ทั้งจากม็อบการเมืองและกระแสประชาชนที่จับต้องได้และในโซเชียลมีเดีย เป็นปัจจัยหลักมากกว่า แต่ถ้าม็อบไล่บิ๊กตู่ ยังมีสภาพแบบที่เห็น คนยังออกมาไม่มากพอ สงสัย คำพยากรณ์ของโทนี่ อาจไม่เป็นจริงก็ได้ 

Exit mobile version