อนุทิน ยอมกลืนเลือด เป็นแพะรับบาป ของ ศบค. ไร้ชื่อเจ้ากระทรวงเข้าร่วม ทำวัคซีนป่วนทั้งระบบ

ศุภชัย เผย อนุทิน ยอมกลืนเลือด เป็นแพะรับบาป ของ ศบค. ปม คำสั่งนายกฯ ตั้งคณะทำงานวัคซีน ที่ให้  ปิยะสกล และ เจ้าของ รพ.เอกชน โดยไม่มีชื่อเจ้ากระทรวงเข้าร่วม  ทำวัคซีนป่วนทั้งระบบ

นายศุภชัย ใจสมุทร นายทะเบียนพรรค ภูมิใจไทย ออกมาโพสต์ Facebook ส่วนตัวระบุ ถึงเรื่องความรับผิดชอบในการจัดหา วัคซีน ของประเทศไทย โดยยืนยัน คำสั่งแต่งตั้ง คณะทำงานวัคซีน ของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ไม่มี ชื่อของนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข โดยมีชื่อเรื่องว่า “อนุทิน” กับการจัดหาวัคซีน แพะรับบาปของ ศบค.

“วันนี้มีข่าวออกมาว่า” “อนุทิน” ชง “ศบค.” เคาะ จำกัดส่งออก แอสตร้าเซนเนก้า ไปต่างปท. หวังได้ 10 ล้านโดส ฉีดให้คนไทยก่อน  สัปดาห์หน้าคุยทุกบริษัท จัดหาวัคซีน mRNA  ด้านโมเดอร์นาตอบรับแล้ว พร้อมสั่งซื้อไฟเซอร์อีก 50 ล้านโดส” ซึ่งข่าวนี้คงได้แพร่หลายไปแล้ว

ช่วงที่ผ่านมา ผมพยายามอยู่อย่างสงบนิ่ง แม้เห็นความไม่ชอบมาพากลความไม่ถูกต้องปรากฏออกมาให้เห็นเป็นข่าวคราวอยู่เสมอ ๆ เพราะคิดว่าตัวเองเป็นนักการเมืองต้องสงบเสงี่ยมเจียมตน อยู่เฉย ๆไม่พูดอะไร คนก็เกลียดทั้ง ๆ ที่นักการเมืองส่วนใหญ่ในเวลานี้ทุ่มเททำงานเพื่อประชาชนอยู่กับประชาชนทั่วประเทศในเวลานี้

แต่พอมีข่าวนี้ออกมาผมคิดว่าผมจำเป็นต้องออกมาพูด เป็นความจริงที่ต้องพูดเพื่อปกป้องคนทำงาน คนทำงานที่ชื่อ “อนุทิน ชาญวีรกูล” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งช่วงเวลาที่ผ่านมาเป็นคนไม่ดี คนไร้ประสิทธิภาพในการทำหน้าที่ โดยเฉพาะประเด็นเรื่องการจัดหาวัคซีน เป็นคนที่ถูกกล่าวหาอย่างร้ายแรง โดยไม่สนใจข้อเท็จจริงสำคัญที่ว่า “อนุทิน ไม่มีอำนาจหน้าที่ในการจัดหาวัคซีน” มาตั้งแต่วันที่ 9 เมษายน 2564 

ถามว่าทำไม? คำตอบคือในวันที่ 9 เมษายน 2564 นายกรัฐมนตรี ได้ออกคำสั่งที่ 5/2564 “เรื่องแต่งตั้งคณะทำงานพิจารณาการจัดหาวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019(โควิด-19)” มี อ.ปิยะสกล เป็นประธาน ซึ่งผมเคยเสนอเรื่องนี้มาครั้งหนึ่งแล้ว

การกำหนดวัคซีนหลัก วัคซีนทางเลือก มาจาก กก.ที่ อ.ปิยะสกล เป็นประธาน มีเจ้าของรพ.เอกชน เป็นกก. เบอร์ 9-16 เป็น เจ้าของรพ.เอกชน อ.ปิยะสกล คือ อดีตรมว.สธ. ที่มีอำนาจเหนือ รมว.สธ.ชื่ออนุทิน ในการจัดการทั้งปวงเกี่ยวกับการจัดหาวัคซีน

หน้าที่และอำนาจ 

ข้อ 1 คือ เสนอแนวทาง มาตรการจัดหาวัคซีน มาใช้ทั้งในสถานพยาบาลของรัฐ และ เอกชน ของรัฐ ก็คือ วัคซีนหลัก ของเอกชนก็คือ วันซีนทางเลือก 

ข้อ 2 พิจารณาจัดหาวัคซีน

ข้อ 3 ดำเนินการตามนายกรัฐมนตรี มอบหมาย

แต่ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ประชาชนไม่เคยทราบว่าคณะทำงานชุดนี้ทำอะไรบ้าง? นอกจากมีข่าวของหมอบุญ ว่า เป็นกรรมการ มีหน้าที่ กำหนดตัวไหนทางหลัก ทางเลือก ?

และที่ทราบคือการวางมาตรการจัดซื้อ จัดหา จำหน่าย อย่างไรเจ้าของรพ.เอกชน เป็นทั้งผู้กำหนดนโยบาย ผู้กำหนดแนวทางซื้อ และ ขาย ซึ่งนี่มันผลประโยชน์ทับซ้อน เห็นๆ? นี่คือศบค. ได้มองเห็นหรือไม่?

และนี่ คือเหตุที่มีการใช้สื่อตีวัคซีนของรัฐบาล ให้คนรอโมเดอร์นา ที่รพ.เอกชน ซื้อผ่าน อภ.มาทำธุรกิจ ?

ที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรี ประกาศจัดหาวัคซีนให้ได้ 100-150 ล้านโดส ในปี 2564 คณะทำงานชุดนี้ ได้สนองนโยบาย และคำสั่งนายกรัฐมนตรีหรือไม่?

แต่ที่แน่ ๆ คือ ในคณะทำงานชุดนี้ ไม่มี รมว.สาธารณสุข และมี ผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข เพียง 5 คน จากทั้งหมด 18 คน

และถ้าได้อ่านคำสั่งนี้กี่ครั้ง ๆ ก็ไม่พบว่า “อนุทิน” รมว.สธ. มีชื่ออยู่ในนี้ และชัดเจนว่า คนจัดการวัคซีน คือ อ. ปิยะสกล กับ เจ้าของรพ.เอกชน ซึ่งผมคิดว่าท่านควรจะออกมาบอกให้ประชาชนได้รับรู้ว่าท่านได้ทำอะไรไปบ้าง และ ศบค. ก็ต้องออกมาบอกประชาชนว่าความจริงเป็นเช่นไร ไม่ใช่ปล่อยให้ “อนุทิน” เป็นแพะรับบาป

ไม่ว่าอย่างไร จนถึงวันนี้ คน สธ. ก็พร้อมรับปฏิบัติ ทั้ง ๆ ที่ไม่อยากทำ เพราะนี่คือ การเอาเปรียบรัฐ เอาเปรียบประชาชน หากินกับประชาชนที่กำลังเดือดร้อน และเสียขวัญ

“อนุทิน” วันนี้ กลืนเลือด ไม่ท้อ ไม่ถอย ยอมให้ด่าทุกเรื่อง แต่อดทน เพราะอาสามาทำงานเพื่อประชาชน เป็นหัวหน้าพรรคที่บอกลูกพรรคที่ห่วงใยว่ากลับไปหาประชาชน ไม่ต้องห่วงผม 

และยังออกมาดำเนินการเรื่องวัคซีนตามข่าวนั้นทั้ง ๆ ที่ไม่ได้มีอำนาจหน้าที่ตามคำสั่งนั้นก็ตาม เพราะทนเห็นความทุกข์ยากของประชาชนไม่ได้

ถ้าจำกันได้ตอนคำสั่งฉบับนี้ออกมา มีคนสะใจมากที่ รมว.สธ. โดนยึดอำนาจ แต่คนกลุ่มนี้เองที่บิดเบือนความจริง กล่าวหารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขว่าล้มเหลวการจัดหาวัคซีน  และสร้างความเข้าใจผิดในหมู่ประชาชน จิตใจพวกคุณทำด้วยอะไรถึงกระทำการอันเลวร้ายเช่นนี้?

แทนที่เราจะร่วมกันช่วยกันฟันฝ่าวิกฤตนี้ไปด้วยกัน เพื่อประเทศของเรา แต่กลับมีคนแบบนี้อยู่ จึงขอได้โปรดยุติการการกระทำเลวร้ายแบบนี้เสียเถิด

แสดงความเห็น