สคช. MOU GHA อเมริกา กู้วิกฤตความเชื่อมั่น รองรับเทรนด์เที่ยวเพื่อสุขภาพ-บริการทางการแพทย์

สคช. MOU GHA อเมริกา ข้ามประเทศ กู้วิกฤตความเชื่อมั่น เพิ่มมาตรฐานคนในอาชีพเพื่อความปลอดภัยการท่องเที่ยว รองรับเทรนด์เที่ยวเพื่อสุขภาพ และบริการทางการแพทย์

ดร.นพดล ปิยะตระภูมิ ผู้อำนวยการสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ ร่วมกับ Ms. Karen H. Timmons, Chief Executive Officer จาก Global Healthcare Accreditation (GHA) สหรัฐอเมริกา ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ “For Developing Thai Medical and Wellness Travel Professionals” หรือ การร่วมกันพัฒนาองค์ความรู้เกี่ยวกับการให้บริการด้านการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์และสุขภาพ ผ่าน Video Conference ตรงจากประเทศสหรัฐอเมริกา โดยมี นายนคร ศิลปอาชา ประธานกรรมการสถาบันฯ พร้อมนางสาววรชนาธิป จันทนู, นางสาวจุลลดา มีจุล, นายพงศ์พัฒน์ เทียนศิริ รองผู้อำนวยการสถาบันฯ และคณะผู้บริหารสถาบันฯ รวมไปถึง นายแพทย์สมพร คำผง ตัวแทนฝ่ายบริหาร GHA ประเทศไทยพร้อมคณะ ร่วมกันเป็นสักขีพยาน 

นายนคร กล่าวว่า ความร่วมมือในครั้งนี้ เป็นก้าวสำคัญในการยกระดับความปลอดภัยการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ในประเทศไทย ซึ่งอยู่ในสถานการณ์ที่ต้องกู้วิกฤตความเชื่อมั่นด้านการท่องเที่ยวจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ความร่วมมือกับ GHA จะช่วยพัฒนาสมรรถนะบุคลากรให้มีความเชี่ยวชาญ สามารถบริหารจัดการการเดินทางเข้าประเทศไทยเพื่อการท่องเที่ยวและใช้บริการทางการแพทย์ ในแบบที่ผู้รับบริการจะได้รับการดูแลอย่างดี มีมาตรฐานตั้งแต่ต้นทาง จนเข้าประเทศไทยสู่การรักษาจนเสร็จสิ้น และพักฟื้น ไปจนถึงเดินทางกลับประเทศอย่างปลอดภัย

ดร.นพดล บอกว่าเป็นการผลักดันให้เกิดการพัฒนาศักยภาพบุคลากรในอาชีพกลุ่มบริการสุขภาพอย่างเป็นรูปธรรม สอดรับนโยบายรัฐบาลที่เร่งสร้างความเชื่อมั่นให้กับกลุ่มนักลงทุนและนักท่องเที่ยวต่างชาติจากนโยบายเปิดประเทศ รวมไปถึงภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ โดยเฉพาะแนวโน้มการท่องเที่ยวที่ปรับตัวสู่การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพมากขึ้น เพราะประเทศไทยมีบุคลากรทางการแพทย์เป็นที่ยอมรับในระดับสากล มีโรงพยาบาลที่มีมาตรฐาน การบริการที่ครบวงจร และมีราคาการให้บริการที่เหมาะสม การพัฒนาบุคลากรเพื่อรองรับทิศทางการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพจึงสำคัญอย่างยิ่งในการยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยด้านการท่องเที่ยวของประเทศไทยให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล 

ด้านนางสาววรชนาธิป ย้ำว่าความร่วมมือกับ GHA ไม่ได้คาดหวังเพียงแค่ผลักดันเฉพาะอาชีพกลุ่มบริการสุขภาพ แต่ยังรวมถึงผู้ดูแลเด็ก ดูแลผู้สูงอายุ ผู้ให้บริการโรงแรม สปา ผู้ประกอบการร้านอาหาร การท่องเที่ยวท้องถิ่น ผู้ให้บริการรถแท็กซี่ รวมไปถึงโลจิสติกส์ ซึ่งอนาคตจะเป็นภาพชัดเจนในการพัฒนามาตรฐานอาชีพในกลุ่มนี้ เพื่อให้สอดรับการปรับเปลี่ยนของโลก ที่ทักษะ ศักยภาพของคนในอาชีพก็ต้องปรับตัวตามให้ทันการเปลี่ยนแปลงอย่างมีมาตรฐานที่สากลให้การยอมรับด้วย 

Ms. Karen H. Timmons, Chief Executive Officer กล่าวว่า เป็นความร่วมมือที่จะช่วยให้ผู้ประกอบการภาคธุรกิจการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพได้ปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานความปลอดภัยเพื่อประโยชน์สูงสุดของผู้รับบริการ ซึ่ง GHA เป็นมาตรฐานสากลเกี่ยวกับบริการสุขภาพสำหรับนักท่องเที่ยวที่เดินทางเพื่อการรักษาพยาบาล (Medical Travel) มีต้นกำเนิดจากประเทศสหรัฐอเมริกา โดย มหาวิทยาลัยนอร์ทเวสเทิร์น ในนครชิคาโก เป็นมาตรฐานที่ได้รับการยอมรับจาก World Medical Association ว่าเป็นมาตรฐานที่จำเพาะเจาะจงต่อผู้ป่วยที่เดินทางเพื่อการรักษาพยาบาล และไม่ได้มีเพียงการดูแลผู้ป่วยเท่านั้น แต่ยังมีเรื่องของการต้อนรับ การบริการผู้ป่วย รวมไปถึงช่วยพัฒนาธุรกิจการให้บริการผู้ป่วยอย่างยั่งยืนอีกด้วย

แสดงความเห็น