ม็อบไล่บิ๊กตู่ ปลุกไม่ขึ้น บทเรียน “จตุพร-ทนายนกเขา” ดันทุรัง

น่าสนใจไม่น้อยกับการที่คนใน “กลุ่มไทยไม่ทน สามัคคีประชาชน” ภายใต้การนำของ จตุพร พรหมพันธุ์ คือ เศวต ทินกูล อดีตสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ ปี 2550 และแนวร่วมกลุ่มไทยไม่ทนฯ ไปแจ้งความต่อตำรวจกองปราบปราม เมื่อวันจันทร์ที่ 28 มิ.ย. เพื่อให้เอาผิดพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรี ฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 โดยอ้างเหตุว่า การประกาศใช้ พ.ร.ก.สถานการณ์ฉุกเฉินฯในช่วงโควิดระบาด มีปัญหาด้านข้อกฎหมาย จึงเป็นการกระทำที่มิชอบด้วยกฎหมาย 

ความน่าสนใจ ไม่ใช่เรื่องของผลทางคดีต่อจากนี้ เพราะของแบบนี้ รู้กัน คงไม่มีตำรวจกองปราบปราม คนไหน จะมาสอบสวนเอาผิด นายกรัฐมนตรี ที่เป็นประธานคณะกรรมการข้าราชการ(ก.ตร.) อีกทั้ง การประกาศใช้พ.ร.ก.สถานการณ์ฉุกเฉินฯ เพื่อรับมือโควิด ที่ใช้มาร่วมปีกว่า มีหรือนักกฎหมายในรัฐบาล จะพลาดง่ายๆ จนนายกฯ ตายน้ำตื้น 

แอคชั่นดังกล่าว ความน่าสนใจก็คือ นับเป็นครั้งแรกๆ ที่กลุ่มไทยไม่ทนฯ หันมาใช้วิธีการเคลื่อนไหว เพื่อต่อต้าน พลเอกประยุทธ์และรัฐบาล ด้วยลีลาที่เพิ่มขึ้น นอกเหนือจากที่ทำมาหลายเดือนก่อนหน้านี้ ที่ไปเน้นหนักด้วยวิธีการ “ก่อม็อบ-ตั้งเวทีปราศรัย-จัดเวทีเสวนา” เพื่อไล่บิ๊กตู่ 

เสมือนหนึ่ง จะเป็นการ “ปรับจังหวะการเมือง-การรุกไล่” ของ กลุ่มไทยไม่ทนฯ ให้มีแทคติกหลากหลายมากขึ้น เพราะอย่างที่เห็น การเข้าแจ้งความเอาผิดนายกฯ ที่กองปราบปราม แค่เดินไปแจ้งความ ทั้งที่รู้ดีว่า ทำไป ก็เท่านั้น ไม่มีผลอะไรตามมา แต่แอคชั่นที่เกิดขึ้น ก็ทำให้ กลุ่มไทยไม่ทนฯ ได้พื้นที่สื่อไปแล้วระดับหนึ่ง 

จึงน่าคิดว่า หรือจะเป็นเพราะแกนนำกลุ่มไม่ทน ที่มีหัวหอกเช่น จตุพร พรหมพันธุ์-อดุลย์ เขียวบริบูรณ์-วีระ สมความคิด เห็นแล้วว่า จำเป็นต้องปรับแทคติกการเคลื่อนไหว หลังม็อบสองนัดที่ผ่านมา ของไทยไม่ทน เมื่อ 24 มิ.ย.และ 26 มิ.ย. อยู่ในสภาพ

“จุดไม่ติด-เข็นไม่ขึ้น-ม็อบฟืนเปียก”

เห็นได้จากขนาดนัดชุมนุมวันหยุด เสาร์ที่ 26 มิ.ย. ตอนช่วงคนมามากสุด ก็ตอนหัวค่ำวันดังกล่าว ที่มีการตั้งเวทีย่อย ตรงบริเวณ แยกพณิชยการ ถนนพิษณุโลก แม้จะมีคนมาร่วมด้วยจำนวนหนึ่ง แต่ภาพที่หลายคนเห็น ก็คือ ขนาดช่วงจตุพร ขึ้นปราศรัยก่อนยุติการชุมนุม คนก็ไม่เต็มถนน ทั้งที่ระดับจตุพร หากเป็นสมัยก่อน ยุคเสื้อแดงบูมๆ อย่างช่วงปี 2552-2553  นปช. นัดระดมพลที่ไหน คนมารอฟัง ตู่-จตุพร กันเต็มพื้นที่ตั้งแต่หัววัน 

ยิ่งอีกกลุ่มที่มาจับมือกันแบบหลวมๆ แบบเป็นคู่ขนานคือ “กลุ่มประชาชนคนไทย” ที่นำโดย นิติธร ล้ำเหลือ หรือทนายนกเขา ซึ่งออกมาเคลื่อนไหวช่วงเดียวกันคือ  24 มิ.ย.และ 26 มิ.ย. ที่บริเวณแยกอุรุพงษ์และถนนพิษณุโลก ข้างทำเนียบรัฐบาล สำหรับ กลุ่มนี้ ยิ่งไม่ต้องพูดถึง เพราะมีแนวร่วมมากันแค่หลักหลายสิบคน ทั้งตอนเคลื่อนขบวนเดินเท้าจากแยกอุรุพงษ์ ถ.พระรามที่ 6 ไปที่หน้าทำเนียบรัฐบาล รวมถึงตอนเคลื่อนไหวบน รถติดตั้งเครื่องขยายเสียง หน้าทำเนียบรัฐบาล 

จนทำให้ ทนายนกเขา รีบชิงแก้เกม แก้เสียหน้า จากเดิมบอก จะชุมนุมแบบปักหลักค้างคืน และจะอยู่จนกว่าทางกลุ่มประชาชนคนไทยจะบรรลุเป้าหมายคือ พลเอกประยุทธ์ ลาออก แต่เมื่อคนมาร่วมด้วยแค่หยิบมือเดียว ทนายนกเขา ต้องรีบยุติการเคลื่อนไหว ปล่อยพื้นที่ให้กลุ่มจตุพร เคลื่อนเป็นกลุ่มหลักกลุ่มเดียวไปเลย 

ทำให้ปฏิบัติการ แม่น้ำร้อยสาย ไล่นายกฯ ที่กลุ่มไทยไม่ทน-ประชาชนคนไทย คุยโวไว้ แป็กไม่เป็นท่า เสียฟอร์มกันหมด ทั้งกลุ่มจตุพร-กลุ่มทนายนกเขา 

การจุดไม่ติดของม็อบไล่นายกฯ ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมาโดยเฉพาะกลุ่มแกนหลัก “ม็อบไทยไม่ทนฯ” ทำให้หลังจากนี้ คนในกลุ่มคงต้องไปพัก ปรับกระบวนยุทธ์อีกหลายอย่าง เพราะหากจะเคลื่อนไหวแบบเดิม ๆที่ทำมาช่วงสัปดาห์ที่แล้ว หลายฝ่ายแม้แต่คนไม่เอา พลเอกประยุทธ์ ก็บอกตรงกัน ยากจะประสบความสำเร็จ และยิ่งนัดชุมนุมแล้วมีคนมาร่วมน้อยแบบนี้ เคลื่อนไหวต่อไป แต่ไม่มีกระแสตอบรับ สุดท้าย ม็อบไทยไม่ทน จะเสียเครดิต มิหนำซ้ำ จะยิ่งส่งผลเป็นบูมเมอแรงทางการเมืองให้กลายเป็นว่า คนยังหนุน บิ๊กตู่ อยู่ เลยไม่ออกมาร่วมขับไล่ 

ส่วน “จตุพร-ไทยไม่ทน” และ “นิติธร-ทนายนกเขา” จะปรับเปลี่ยนกระบวนยุทธ์การเคลื่อนไหวอย่างไร คงต้องรอติดตามดูกันต่อไป เพราะยังไงเสีย กลุ่มเหล่านี้ คงไม่ยอมเลิกราง่ายๆ 

จุดสำคัญเลยในการปรับกระบวนการเคลื่อนไหว คงไม่พ้นเรื่องของการดูเรื่อง “ไทม์มิ่ง-จังหวะเวลา”ในการเคลื่อนไหว เพราะที่ผ่านมา เชื่อเถอะว่า คนไม่เอาบิ๊กตู่เยอะ คนอยากออกมาร่วมต่อต้านขับไล่จำนวนมาก โดยเฉพาะคนที่ได้รับผลกระทบจากโควิดโดยตรง  ซึ่งมีเป็นล้านคน  แน่นอน 

ยิ่งกลุ่มคนที่ได้รับผลกระทบหนักๆ เช่นพวกที่อยู่ในสายธุรกิจ ร้านอาหาร-ธุรกิจบริการ การท่องเที่ยว พวกนี้ หลายคนมีความคับแค้นใจต่อรัฐบาลอย่างมาก 

อย่างการประกาศล็อกดาวน์กรุงเทพมหานครกะทันหันเมื่อคืนวันเสาร์ที่ 26 มิ.ย. โดยเฉพาะการไม่ให้ นั่งกิน-นั่งทาน ในร้านอาหาร  30 วัน ทำให้คนที่เกี่ยวข้องนับแสนได้รับกระทบอย่างมาก ความไม่พอใจแบบนี้ หากถึงจังหวะที่คนจะออกมารวมตัวต่อต้าน-ก่อหวอด รัฐบาล ถ้าจังหวะเหมาะเมื่อไหร่ คนกลุ่มนี้พร้อมจะออกมาแน่นอน

เพียงแต่ตอนนี้ สถานการณ์มันไม่เอื้อที่จะทำให้ ประชาชนจะออกมาร่วมชุมนุมการเมือง เพราะส่วนใหญ่ยังกลัวจะติดเชื้อโควิด เลยไม่อยากออกไปร่วมชุมนุม ผสมกับทุกคนต่างต้องดิ้นรนเอาตัวรอดในการประกอบธุรกิจและการดำเนินชีวิต คนเลยไม่มีกะจิตกะใจ จะไปม็อบ เพราะอยากให้โควิดจบก่อน เรื่องจะไล่รัฐบาล เอาไว้ทีหลังก็ได้ เพราะไล่ตอนนี้ ยังไง บิ๊กตู่ ไม่ออกอยู่แล้ว ของแบบนี้ ประชาชนต่างรู้ดี เลยคิดกันไปในทางเดียวกัน ออกไปไล่ก็เหนื่อย แถมเสี่ยงติดโควิด ให้จบโควิดก่อน ค่อยว่ากัน 

ความล้มเหลว-การจุดไม่ติดของกลุ่มไทยไม่ทนฯและกลุ่มประชาชนคนไทยของ “จตุพร-นิติธร ทนายนกเขา” สาเหตุหลักใหญ่ ก็คือ ช่วงเวลาในการออกมาเคลื่อนไหวไม่เหมาะสม สถานการณ์ไม่เอื้ออำนวย แม้จะมีคนทักท้วงคนในสองกลุ่มนี้ไปแล้วว่ายังไม่ควรออกมาเคลื่อนไหว เพราะออกมาแล้ว คนไม่มาร่วมด้วย กลายเป็นม็อบฟืนเปียก จะส่งผลเสียระยะยาว แต่ทั้งสองกลุ่ม ก็ดันทุรัง จะเคลื่อนไหวให้ได้ สุดท้าย ผลก็เป็นอย่างที่เห็นกัน กับสภาพม็อบจุดไม่ติด 

การเคลื่อนไหวต่อจากนี้ของกลุ่มม็อบไทยไม่ทน-ประชาชนคนไทย หากยังไม่ดูทิศทางลม และประเมินสถานการณ์ให้ละเอียดขึ้น ถ้ายังคงดันทุรัง ทำแบบที่เคยมากันมา อาการม็อบแป็ก จุดไม่ติด คงเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า ค่อนข้างแน่ 

แสดงความเห็น