อดีต ป.ป.ช. ซัดแก้รธน. ม.144-185 เข้าข่ายขัดกันระหว่างผลประโยชน์ ทำภาพลักษณ์ต่อต้านทุจริตไทยด้อยลง

ที่รัฐสภา นายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ ส.ว. อภิปรายว่า ในฐานะที่ตนเคยปฏิบัติหน้าที่ใน คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และได้ร่วมประชุมกับนานาประเทศเกี่ยวกับการปราบปรามคอร์รัปชั่นมาอย่างต่อเนื่องนั้น ทุกประเทศเห็นตรงกันว่าการคอร์รัปชั่นเป็นอาชญากรรมที่ส่งผลกระทบต่อประเทศทั้งทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างมาก ดังนั้นรัฐภาคีสหประชาชาติจึงมีมติเมื่อปี 2539 กำหนดมาตรฐานทางจริยธรรมของเจ้าหน้าที่ของรัฐ โดยมีหลักการคือ 1.ต้องปฏิบัติหน้าที่เพื่อประโยชน์สาธารณะ ซื่อสัตย์สุจริต 2.ไม่พึงให้การปฏิบัติเป็นพิเศษต่อกลุ่มหรือบุคคลใดโดยไม่ควร และ 3.ไม่พึงใช้อำนาจหน้าที่ตนในทางไม่ชอบ นอกจากนั้นในปี 2546 รัฐภาคีสหประชาชนยังให้ความเห็นชอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านคอร์รัปชั่น เพื่อป้องกันการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนตัวกับประโยชน์ส่วนรวม ซึ่งรัฐธรรมนูญปี 2550 จึงอนุวัติตามอนุสัญญาสหประชาชาติดังกล่าว และรัฐธรรมนูญปี 2560 ได้บัญญัติเรื่องขัดกันระหว่างผลประโยชน์ในมาตรา 184-187 นอกจากนั้นในมาตรา 144 ยังมีการบัญญัติห้าม ส.ส. ส.ว.แทรกแซงการจัดงบประมาณ ซึ่งตรงกับลักษระการขัดกันระหว่างผลประโยชน์เพราะเป็นการนำโครงการสาธารณะลงในพื้นที่เลือกตั้งเพื่อผลประโยชน์ทางการเมือง

นายปานเทพ กล่าวว่า สรุปแล้วการเสนอขอแก้ไขมาตรา 144 และมาตรา 185 เป็นการเปิดโอกาสให้สมาชิกรัฐสภาบางส่วนก้าวก่ายแทรกแซงเพื่อประโยชน์ของตน พวกพ้อง และพรรคการเมือง การแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้ง 2 มาตราจึงขัดต่อบทบัญญัติในอนุสัญญาสหประชาชาติ ซึ่งจะทำให้ภาพลักษณ์ของประเทศด้านการต่อต้านคอร์รัปชั่นให้ด้อยลง ขาดความเชื่อถือศรัทธาในการดำเนินงานการค้าระหว่างประเทศ ตนจึงไม่เห็นด้วยกับการแก้รัฐธรรมนูญมาตรา 144 และ 185

แสดงความเห็น