จุรินทร์ แจงสภาฯ ปมตัดอำนาจ ส.ว.โหวตนายกฯ ไม่ใช่กีดกัน คนอยากเป็นนายกฯ ต่อ

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ชี้แจงหลักการของญัตติ ตอนหนึ่งถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่ขอแก้ไขกลุ่มมาตราว่าด้วยระบบเลือกตั้ง เพื่อให้ประชาชนมีเสรีภาพเลือกผู้แทนและพรรคการเมืองที่ชอบ  เพราะบัตรเลือกตั้ง 2 ใบแยกเลือกคนและพรรคการเมือง ไม่ถูกบังคับเหมือนระบบบัตรเลือกตั้งใบเดียว อีกทั้งทำให้ประชาธิปไตยในรัฐสภาเข้มแข็ง เพราะพรรคการเมืองเข้มแข็ง การเมืองมีเสถียรภาพ คะแนนไม่เป็นเบี้ยหัวแตก ส่วน การแก้ไขมาตรา 272 เพื่อตัดอำนาจ ส.ว.ร่วมลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีในรัฐสภา จุดยืนของพรรคประชาธิปัตย์มองว่า วุฒิสภาจำเป็นและประเทศไทยควรเป็นระบบรัฐสภาแบบสองสภา แต่เมื่อส.ว.ไม่มาจากการเลือกตั้งควรมีอำนาจจำกัด เฉพาะกลั่นกรองกฎหมายและควบคุมการบริหารราชการแผ่นดิน ไม่ควรมีอำนาจลงคะแนนเลือกนายกรัฐมนตรีแทนประชาชน  คือ ส.ส.

“การแก้ไขมาตรา 272 คือ การย่นระยะเวลา 5 ปีที่กำหนดไว้ในบทเฉพาะกาลให้สั้นลงเท่านั้นเพื่อกลับเข้าสู่หลักประชาธิปไตยให้เร็วขึ้น ไม่มีผลกีดกันบุคคลใดบุคคลหนึ่ง ไม่ให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้ต่อไปในอนาคต เพราะหากบุคคลนั้นประสงค์เป็นนายกรัฐมนตรีต่อไป สามารถนำชื่อไปใส่ในบัญชีที่พรรคการเมืองสนับสนุนให้เป็นนายกรัฐมนตรี หรือลงเลือกตั้ง ก็ได้ และหลังเลือกตั้งบุคคลนั้นสามารถรวมเสียงข้างมากในสภาฯ ได้ย่อมมีสิทธิดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้เช่นเดียวกับบุคคลอื่นที่มีคุณสมบัติเดียวกัน นอกจากนั้นการปลดล็อกมาตรา 272 จะแก้ไขความขัดแย้งทางการเมืองและให้การเมืองมีเสถียรภาพแก้ปัญหาของรัฐบาลปัจจุบันได้ราบรื่น” นายจุรินทร์ ชี้แจง

นายจุรินทร์ ชี้แจงด้วยว่า พรรคประชาธิปัตย์ มีมติสนับสนุนญัตติแก้รัฐธรรมนูญ ทั้ง 13 ฉบับ เพราะมีหลักการที่ใกล้เคียงกัน ส่วนร่างของพรรคพลังประชารัฐที่มีปัญหาต่อมาตรา 144 และมาตรา 185 สามารถ แปรญัตติแก้ไขให้เหมาะสมในวาระสอง ทั้งนี้การลงมติสนับสนุนไม่ใช่การแลกเปลี่ยนผลประโยชน์แต่คือการแสวงหาความร่วมมือที่ไม่ขัดจุดยืนเพื่อให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญบรรลุผลสำเร็จ เพราะต้องใช้เสียงเกินกึ่งหนึ่งของสองสภารวมกัน รวมถึงใช้เสียง 20% ของฝ่ายค้านและเสียง ส.ว. 1 ใน 3 สนับสนุนด้วย

แสดงความเห็น