ชวน ย้ำ เหตุผลไม่รับญัตติแก้รธน. ตั้ง ‘ส.ส.ร.’ เหตุคำวินิจฉัยศาล ผูกพันต่อรัฐสภา

การประชุมร่วมรัฐสภา วาระพิจารณาเรื่องด่วน คือ ร่างรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขเพิ่มเติม รวม 13 ฉบับ  ทั้งนี้ก่อนเข้าสู่ระเบียบวาระ มีส.ส.หารือและชี้แจง โดยเฉพาะ ส.ส.พรรคฝ่ายค้าน ขอหารือกับนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ฐานะประธานที่ประชุม เพื่อขอให้ทบทวนการไม่บรรจุญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญ ของพรรคฝ่ายค้าน ว่าด้วยการแก้ไขมาตรา 256 และเพิ่มหมวดใหม่ ว่าด้วยการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ไว้ในระเบียบวาระประชุมรัฐสภา 

โดย นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน พรรคเพื่อไทย  ระบุว่า การเสนอญัตติของพรรคร่วมฝ่ายค้านเป็นเพียงกระบวนการหนึ่ง ที่เปิดช่องให้รัฐธรรมนูญ มีหมวดว่าด้วยการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เพื่อรองรับการจัดทำรัฐธรรรมนูญฉบับใหม่  เพราะหากออกเสียงประชามติแล้วประชาชนเห็นชอบให้ทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่แต่กระบวนการต่อไปต้องเปิดช่องที่รัฐธรรมนูญให้มีบทรองรับให้รัฐสภาทำได้  หากไม่บรรจุญัตติดังกล่าว เท่ากับห้ามจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดยสิ้นเชิง อีกทั้งการเสนอดังกล่าวหากมีผลจะเป็นเพียงการแก้ไขเพิ่มเติมของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 และไม่มีผลให้รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ต้องถูกยกเลิก และไม่เป็นไปตามคำวินิจฉัยของฝ่ายกฎหมายสภาฯ ที่ตีความไปเกินกว่าคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ

“การเสนอญัตติเพื่อเปิดช่องให้รัฐธรรมนูญ มีหมวดว่าด้วยการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เพื่อรองรับการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่  ส่วนสิ่งที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ถือว่าต้องทำประชามติ ถึง 3 ครั้ง โดยครั้งแรก ไม่ทราบว่ามีกระบวนการ หรือใครเป็นผู้จัดทำ และประชาชนมีส่วนร่วมอย่างไร หรือเวลาเท่าไร ครั้งที่สอง คือ ประชามติเพื่อทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และ ครั้งที่สาม หลังจากที่ทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่แล้วเสร็จ  ต้องใช้งบประมาณครั้งละ 3,000 ล้านบาท  ขอให้ทบทวนเพราะหลักการของพรรคเพื่อไทยไม่ขัดหรือแย้งต่อคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ และควรให้รัฐสภาวินิจฉัยไม่ใช่ประธานรัฐสภาวินิจฉัยเอง ที่ทำให้สมาชิกรัฐสภาทำหน้าที่ไม่ได้” นพ.ชลน่าน หารือ

ขณะที่นายพิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล หารือให้รัฐสภา ถึงวิธีการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของกลุ่มประชาชน ที่อยู่ระหว่างการเข้าชื่อให้ได้ 5 หมื่นรายชื่อ ซึ่งขณะนี้จำนวนคนเข้าชื่อดังกล่าวใกล้จะครบถ้วนแล้ว ทั้งนี้การจะยกเว้นข้อบังคับคงทำไม่ได้ เพราะฝั่งของรัฐบาลมีความเร่งรีบอยากให้แก้ไขรัฐธรรมนูญให้แล้วเสร็จภายในสมัยประชุม และรีบยุบสภา ดังนั้นหากระหว่างที่กรรมาธิการพิจารณา แต่ยังไม่ลงมติวาระสาม จะมีช่องทางให้ร่างรัฐธรรมนูญของภาคประชาชนร่วมพิจารณาหรือไม่ ทั้งนี้เพื่อให้ประหยัดต่องบประมาณ

ทางด้านนายวิรัช รัตนเศรษฐ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล  ปฏิเสธการเร่งรัดแก้รัฐธรรมนูญเพื่อเตรียมยุบสภา โดยเนื้อหาของพรรคพลังประชารัฐ มาจากผลการศึกษา กมธ. วิสามัญพิจารณาศึกษาปัญหา หลักเกณฑ์ และ แนวทางแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ชุดที่มีนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค เป็นประธานกมธ. 

ทั้งนี้นายชวน ชี้แจงยืนยันต่อการไม่บรรจุญัตติแก้รัฐธรรมนูญของฝ่ายค้านว่า ยึดตามกฎหมายและข้อบังคับ โดยเฉพาะคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญมีผลผูกพันต่อรัฐสภา ทั้งนี้ตนได้ตรวจสอบเนื้อหาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับที่เสนอใหม่ กับฉบับที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย มีเนื้อหาเหมือนกัน ต่างกันแค่วันและเวลา  ดังนั้นหากรับบรรจุจะเท่ากับไม่ยอมรับคำวินิจฉัย เหมือนของเดิมที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยมาแล้ว ผมยืนยันว่าไม่มีใครสั่ง และทำหน้าที่อย่างตรงไปตรงมา และระมัดระวัง เพราะไม่ต้องการถูกป.ป.ช. ตรวจสอบ ว่าทำผิดมาตรฐานจริยธรรม

“ฝ่ายนิติบัญญัติ เป็นหนึ่งในอำนาจอธิปไตย มีหน้าที่ออกกฎหมายบังคับคนทั้งประเทศ ต้องเป็นแบบอย่าง เพราะระบบประชาธิปไตยอยู่ได้ หากกฎหมายศักดิ์สิทธิ์ แต่ระบบประชาธิปไตยจะอยู่ไม่ได้ หากกฎหมายไม่ศักดิ์สิทธิ์ ไม่มีผลปฏิบัติ บังคับไม่ได้ ประชาธิปไตยจะอ่อนแอ อย่างที่เห็นบางจุด บางประเด็น  ซึ่งการวินิจฉัยเป็นไปอย่างถูกต้อง และถูกกฎหมาย” นายชวน ชี้แจง

นายชวน กล่าวด้วยว่า ส่วนร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของประชาชน เมื่อส่งมายังสภาฯ และตรวจสอบความถูกต้อง จะบรรจุให้ทันที ไม่มีปัญหา

แสดงความเห็น