เพื่อไทย ยกโมเดล ทักษิณ สอน ประยุทธ์ จี้ปรับวิธีใช้เงินกู้

นายอนุรักษ์ ตั้งปณิธานนท์ ส.ส.มุกดาหาร พรรคเพื่อไทย  อภิปรายไม่เห็นด้วยต่อการออก พ.ร.ก.กู้เงิน วงเงิน 5 แสนล้านบาท หากนำไปใช้เหมือนกับเงินกู้  จำนวน 1.1 แสนล้านบาท เมื่อปี 2563 ที่พบว่าใช้เงินกู้ไม่เกิดประโยชน์  และไม่แก้ปัญหา เนื่องจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ใช้เงินไม่ตรงวัตถุประสงค์ที่ขอ จนสร้างความเสียหายต่อระบบงบประมาณของประเทศ โดยเฉพาะใช้เงินเพื่อฟื้นฟู โดยแบ่งให้แต่ละจังหวัด คล้ายกับการแบ่งเค้ก และคนทั่วไปทราบว่ามีการทุจริต  และผู้รับจ้างตามงบฟื้นฟูต้องจ่ายเปอร์เซ็นต์ให้ก่อนทำโครงการ อย่างไรก็ดีตนเตรียมเปิดเผยผลการตรวจสอบการทุจริตในกรมต่างๆ ในการพิจารณางบประมาณวาระสอง

นายอนุรักษ์ อภิปรายด้วยว่า ตนทำหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี รวมถึง นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง เพื่อแจ้งถึงการทุจริตด้วยระบบการประกวดราคาทางอิเล็กทรอนิกส์ (อี-บิดดิ้ง) ที่มีหน่วยงานราชการช่วยฮั้วราคา  อย่างโครงการรถไฟไปภาคเหนือ หรือ ภาคใต้ งบประมาณหลายแสนล้านบาท มีผู้รับเหมาชั้นพิเศษยักษ์ใหญ่ ประมูลต่ำกว่างบประมาณ  0.08%  

“การใช้เงินกู้ ที่พบว่าให้ธนาคารกรุงไทย ทำแอปพลิเคชันเป๋าตัง ผมสงสัยว่าทำไมต้องให้ธนาคารกรุงไทยทำเท่านั้น และวันนี้ไม่ทราบว่าธนาคารกรุงไทยเป็นรัฐวิสาหกิจหรือไม่ เมื่อเสียประโยชน์บอกว่าไม่เป็นรัฐวิสาหกิจ ทั้งนี้ผมเคยตรวจสอบในการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ว่า ซีอีโอกรุงไทยคนปัจจุบันครบวาระและต้องพ้นตำแหน่ง เมื่อ 6 พฤศจิกายน 2563 แต่ปัจจุบันยังเป็นอยู่ หากเขาเก่งต้องให้ตำแหน่งรัฐมนตรี จะได้ไม่ขาดคุณสมบัติเหมือนปัจจุบัน หากนายกรัฐมนตรีบอกว่าจะตรวจสอบขอให้ตรวจสอบการให้ธนาคารกรุงไทยทำแอปพลิเคชั่นเป๋าตังถูกต้องหรือไม่” นายอนุรักษ์ อภิปราย

น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายว่า เงินกู้ของรัฐบาล วงเงิน 1 ล้านล้านบาทพบการเบิกจ่าย ไม่เป็นไปตามเป้าหมาย และการทำโครงการไม่แล้วเสร็จ อย่างไรก็ดีพรรคก้าวไกลไม่คัดค้านการกู้เงิน แต่หากรัฐบาล แก้ปัญหาได้ สามารถปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ แต่หากไม่สามารถฟื้นเศรษฐกิจได้ ประเทศจะจมกับกองหนี้และดอกเบี้ยที่โตกว่าเศรษฐกิจ  หากประเทศไทยจะต้องกู้เพื่อเอาชนะสงครามโควิด-19 ต้องเป็นการกู้เงินเพื่อผ่านงบและกระจายเงินซื้อวัคซีน ซื้ออุปกรณ์ทางการแพทย์ รวมถึงประคับประคองชีวิตประชาชนให้พ้นวิกฤตโควิด รวมถึงให้เอสเอ็มอี สามารถอยู่ได้ เพราะตนมองว่าเอสเอ็มอี คือ กลุ่มสำคัญต่อการช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจ หลังพ้นวิกฤตโควิด-19

“การบริหารเงินกู้ 1 ล้านล้านบาท 1 ปีที่ผ่าน ของพล.อ.ประยุทธ์ เห็นว่าไร้ความรับผิดชอบต่อประชาชน  หาก พล.อ.ประยุทธ์ ระบุว่าทำเต็มที่ และทำดีแล้ว แต่ผลลัพธ์ไม่เปลี่ยน ปัญหาอยู่ที่ตัวนายกรัฐมนตรี  ดังนั้นควรลาออก หรืออีกทางคือ ยุบสภาฯ ถามประชาชนว่าคนที่กู้และคนใช้เงินกู้คนใหม่เป็นใคร” น.ส.ศิริกัญญา อภิปราย

ขณะที่ นายชูวิทย์ พิทักษ์พรพัลลภ ส.ส.อุบลราชธานี พรรคเพื่อไทย อภิปราย ว่า การแก้ปัญหาโควิด-19 ต้องช่วยผู้ประกอบการ ส่วนการเยียวยา ต้องจ่ายเป็นเงินสด ซึ่งตนเชื่อว่าสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้  การกู้เงินเพื่อการเยียวยาประชาชน วงเงิน 3.5 แสนล้านบาท เชื่อว่าจะเป็นเงินกู้ก้อนสุดท้าย ตนขอให้เติมเงินเข้าสู่กองทุนหมู่บ้าน เพื่อให้ผู้ค้ารายเล็กเข้าถึงการกู้เงิน ไม่เกิน 30,000 บาท และผ่อนจ่ายวันละ 50 – 100 บาท ไม่เกิน 24 เดือนจะใช้หนี้หมด  

นายชูวิทย์ อภิปรายโดยยกตัวอย่างการแก้หนี้ไอเอ็มเอฟ สมัยรัฐบาลของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่สามารถใช้หนี้หมด ภายใน 4 ปี โดยใช้ระบบการกระจายเงินลงสู่ชุมชนให้ประชาชนกู้ ผ่านกองทุนหมู่บ้าน ๆ ละ 1 ล้านบาท ซึ่งสมัยนั้นประเทศไม่มีเงิน ต้องแคะกระปุกออมสินเด็ก ได้เงิน 2 หมื่นล้านบาท กระจายไปยังหมู่บ้าน เมื่อชาวบ้านกู้เงิน ทำให้มีการหมุนของเงิน เพราะชาวบ้านมีทุนทำอาชีพ มีการจ้างงาน 

“นายกฯทักษิณ บอกว่า หากกลับมาภายใน 6 เดือนคนไทยมีเงินเต็มกระเป๋า พอ พล.อ.ประยุทธ์ได้ยินกลับพิมพ์เงินเพื่อให้เต็มกระเป๋า กู้เงินเพื่อแจก จ่าย บอกประชาชนไม่ต้องทำนา ไม่ต้องกรีดยาง เพราะทำไม่เป็น ตัดต้นยางพาราทิ้ง ลูกหลานทำไม่เป็น พอตื่นเอาบัตรไปรูดกินมาม่า เมื่อไม่ได้ทำนา ไม่ได้ทำยาง คนจะไม่มีสิทธิรวย ดังนั้นผมขอให้ทบทวนการแก้ปัญหา รัฐบาลวันนี้หนี้ท่วมหัว ผมขอยกตัวอยย่างหากพ่อขยัน พ่อหัวไม่ดี ต้องจน แต่หากพ่อขยัน พ่อหัวดี  ลูกจะรวย หากพ่อพากู้ ลูกหลานต้องกู้ ผมไม่เห็นด้วย ต่อการออก พ.ร.ก.กู้เงิน” นายชูวิทย์ อภิปราย

แสดงความเห็น