สมเจตน์ ยุ เลิกใช้ระบบประชาธิปไตย ในประเทศ หากมองว่าเป็นต้นเหตุขัดแย้ง ซัด บางพรรค ตั้งใจถอด ไพรมารี่โหวต ออกจากรธน.

การประชุมวุฒิสภา มีวาระพิจารณารายงานของคณะกรรมาธิการ (กมธ.) กิจการองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญวุฒิสภา ที่มีนายกล้านรงค์​ จันทิก ส.ว. เป็นประธานกมธ.ฯ เรื่อง การสรรหาผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.โดยกระบวนการเลือกตั้งขั้นต้น (ไพรมารี่โหวต) ตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560

ทั้งนี้นายกล้านรงค์ อภิปรายว่า กมธ.ต้องการให้ทุกพรรคเป็นสถาบันทางการเมืองของประชาชน ดังนั้นนมองว่าทุกพรรคต้องพร้อมสำหรับการเลือกตั้งขั้นต้น อย่างไรก็ดีจากการสอบถามนายแสวง บุญมี รองเลขาธิการ กกต. ถึงความพร้อมต่อกรณีที่เกี่ยวข้อง ซึ่งนายแสวงยอมรับว่าไม่มีความพร้อม แต่หากไม่มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ การเลือกตั้งขั้นต้นต้องเดินหน้า

พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม ส.ว. อภิปรายว่า  เจตนารมณ์ของพรรคการเมืองที่ต้องการแก้รัฐธรรมนูญ และยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ คือ ต้องการล้มระบบเลือกตั้งขั้นต้น แต่ชี้แจงไม่ได้ เพราะเป็นหัวใจประชาธิปไตย จึงต้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 และแก้ไขมาตรา 45 เพื่อถอดระบบเลือกตั้งขั้นต้นทิ้งไป หากสามารถแก้ไขได้ ระบบเลือกตั้งขั้นต้นที่คิดว่าเหมาะสมเพื่อแก้ปัญหาพรรคการเมืองจะถูกถอดทิ้งไป

“การทำพรรคการเมืองให้เป็นสถาบันทางการเมือง ให้สมาชิกมีส่วนร่วมเลือกตัวแทนที่มีความรู้ความสามารถ มีจริยธรรม คือ เจตนารมณ์ของการปฏิรูปการเมือง ซึ่งแนวทางการเลือกตั้งขั้นต้น ถือเป็นแนวทาง ทั้งนี้การเลือกตั้งขั้นต้นต้องมีตัวแทนพรรคการเมืองในเขตเลือกตั้ง ที่มีสมาชิกไม่น้อยกว่า 100 คนเป็นฐาน หลายพรรคการเมืองบอกว่ายาก หาไม่ได้ หากคิดว่าการเลือกตั้งแต่ละครั้ง คนที่ชนะเลือกตั้งได้คะแนนหลักหมื่น หลักแสน แต่การหาสมาชิกพรรคการเมืองกลับหาไม่ได้  ซึ่งกรณีดังกล่าวผมเชื่อว่าสมาชิกพรรคในเขตจังหวัดจะขยายการเรียนรู้ประชาธิปไตยมากขึ้น แต่หลายคนบอกว่าจะทำให้เกิดความแตกแยก ผมอยากถามว่านี่คือวิธีการของระบอบประชาธิปไตย หากทำให้เกิดแตกแยกได้ ผมมองว่าไม่ควรนำระบอบประชาธิปไตยมาใช้กับประเทศไทย” พล.อ.สมเจตน์ อภิปราย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าที่ประชุมวุฒิสภา ไม่ขัดข้องต่อการนำรายงานและข้อเสนอแนะรวมถึงข้อสังเกตของกมธ. และส.ว. นำเสนอไปยังรัฐบาลและ กกต. ต่อไป

แสดงความเห็น