วุฒิสภา ผ่าน พ.ร.ก.ซอฟท์โลน พร้อมแนะ ก.คลัง ปรับปรุงการช่วยเหลือเอสเอ็มอี – ใช้ธนาคารเพื่อพัฒนา ตั้งบัญชีบริการสธ. เพื่อกันความเสียหาย

ที่ประชุมวุฒิสภา ที่มีนายศุภชัย สมเจริญ รองประธานวุฒิสภา คนที่สอง เป็นประธานในที่ประชุม ได้ลงมติอนุมัติ พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ให้ความช่วยเหลือและฟื้นฟูผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ.2564  ซึ่งคณะรัฐมนตรี เป็นผู้เสนอ ด้วยเสียงเห็นชอบ 173 เสียง งดออกเสียง 4 เสียง

ทั้งนี้ในการอภิปรายของส.ว. พบว่า มีข้อเสนอแนะที่ควรปรับปรุงแนวทางการช่วยเหลือทางการเงินกับกลุ่มเอสเอ็มอี หรือธุรกิจขนาดเล็กกว่า เอสเอ็มอี

โดยนายสถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์ ส.ว. อภิปรายว่า มาตรการทางการเงิน เพื่อช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ควรใช้สถาบันการเงินเฉพาะกิจหรือ ธนาคารเพื่อการพัฒนา  ได้แก่ ธนาคารออมสิน ธนาคารเอสเอ็มอี ธนาคารเพื่อการนำเข้าและส่งออก ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ ให้มากขึ้น เนื่องจากจัดตั้งธนาคารเพื่อการพัฒนานั้นมีเจตนารมณ์ให้กระทรวงการคลังใช้เป็นเครื่องมือได้เต็มที่ มากกว่า จะใช้ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่มีหน้าที่กำกับสถาบันการเงินพาณิชย์ซึ่งที่มีหลักเกณฑ์และหน้าที่ดูแลเงินฝากของประชาชน จึงมีกฎเกณฑ์ที่ใช้บังคับ และเป็นอำนาจการชักชวน หากกระทรวงการคลังใช้สถาบันการเงินเฉพาะกิจ รัฐบาลสามารถให้นโยบายได้เต็มที่ และหากมีความเสียหาย สามารถตั้งเป็นบัญชีบริการสาธารณะ เพื่อรับงบประมาณจากรัฐบาล เพื่อพิสูจน์ได้ว่า เพื่อการบริการสาธารณะ

ขณะที่นพ.เจตน์ สิรธรานนท์ ส.ว. อภิปราย การคิกออฟฉีดวัคซีน วันที่ 7 มิถุนายน ถือเป็นการส่งต่อจากสาธารณะสุขไปยังกระทรวงการคลัง เพื่อดำเนินการทางเศรษฐกิจหลังจากสร้างภูมิคุ้มกันให้คนไทย อย่างไรก็ดีการระบาดของโควิด-19 สร้างผลกระทบกับคนไทย และไม่มั่นใจว่าจะมีการระบาดอีกครั้งหรือไม่ ดังนั้นในการกระตุ้นเศรษฐกิจ ผ่านการช่วยเหลือเอสเอ็มอี เชื่อว่าจะเป็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ ดังนั้นการออกพ.ร.ก.ซอฟท์โลน ทั้งฉบับแรก วงเงิน 5 แสนล้าน และ ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม จำนวน 3.5 แสนล้าน ตนมองว่าน้อยเกินไป กับจำนวนเอสเอ็มอี ที่มี 3 ล้านราย

การช่วยเหลือเอสเอ็มอี ผ่านการออกเงินผ่านธนาคารแห่งประเทศไทย มีเพียง 1.2 แสนล้านบาท ถือว่าน้อยมาก ดังนั้นเพื่อให้ช่วยเหลือกลุ่มเอสเอ็มอีได้ ต้องจัดลำดับและแบ่งการช่วยเหลือ อาทิ กลุ่มที่พร้อมฟื้น, กลุ่มรอฟื้นตัว ที่สามารถช่วยเหลือแล้วธุรกิจฟื้นได้  และกลุ่มรอรักษา เปรียบเหมือนเป็นบัวใต้น้ำที่ถมเงินอาจจะสูญเปล่า หากไม่แบ่งจะทำให้มีปัญหาได้” นพ.เจตน์ อภิปราย

แสดงความเห็น