“ภูมิใจไทย” แจงเหตุอภิปรายจัดหนักสับงบประมาณ เพื่อชี้ข้อบกพร่องให้รบ.ปรับปรุง

นายภราดร ปริศนานันทกุล ส.ส.อ่างทอง พรรคภูมิใจไทย ในฐานะโฆษกพรรคฯ ชี้แจงถึงกรณีที่พรรคภูมิใจไทย ลงมติรับหลักการร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่าย ประจำปีงบประมาณ 2565 ในวาระแรก หลัง ส.ส.ของพรรคฯ อภิปรายวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักว่า การวิพากษ์วิจารณ์ เพื่อให้ฝ่ายปฏิบัติ หรือรัฐบาล รู้ข้อบกพร่อง และนำไปแก้ไข ไม่ใช่เป็นการวิจารณ์เพื่อทำลายใคร และตนเองเป็น ส.ส.มา 3 สมัย อยู่ฝ่ายรัฐบาลตลอด แต่ทุกครั้งที่อภิปราย ไม่เคยมีครั้งใดที่ชื่นชมรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลใด เพราะได้แสดงเหตุผล ข้อดี ข้อเสีย และเสนอแนะแนวทางปรับปรุงแก้ไข 

ส่วนสาเหตุที่ลงมติรับหลักการนั้น นายภราดร ชี้แจงว่า หากไม่ลงมติรับหลักการ และร่างงบประมาณตกไปนั้น รัฐบาล และหน่วยงานต่าง ๆ จะต้องให้สำนักงบประมาณพิจารณากันใหม่ และกว่าจะเสนอวาระแรกต่อสภาผู้แทนราษฎรอีกครั้ง ก็ต้องใช้เวลาอีกไม่ต่ำกว่า 6 เดือนแน่นอน ดังนั้น  กว่าจะได้ใช้งบประมาณ 2565 ก็ไม่น่าเร็วกว่าเดือนมีนาคม 2565 ซึ่งเข้าสู่ไตรมาสที่ 2 แล้ว และหากใช้งบประมาณปี 2564 ไปพลางก่อน ก็ไม่มีงบลงทุนจากรัฐบาล ซึ่งไม่เป็นผลดี และยังไม่มีงบประมาณสำหรับบริหารสถานการณ์โควิด-19 ดังนั้น การอภิปรายท้วงติง เพื่อต้องการชี้ให้เห็นชัด ๆ ว่า การจัดสรรงบประมาณแบบนี้ บนสถานการณ์ไม่ปกติแบบนี้ เป็นการจัดสรรที่ผิดพลาด และน่าผิดหวัง  เพราะควรทำได้ดีกว่านี้ และการทำหน้าที่ผู้แทน ก็มีหน้าที่วิพากษ์ เพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงไม่ใช่วิพากษ์ เพื่อนำไปสู่ความพินาศ 

ขณะที่ นายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ ส.ส.ศรีสะเกษ พรรคภูมิใจไทย ชี้แจงสาเหตุที่ไม่คว่ำร่างงบประมาณฉบับนี้ว่า ไม่ได้พิจารณาเพียงมิติการเมือง แต่จะต้องพิจารณาถึงการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และการร่างร่างงบประมาณ เพื่อยุบสภาเลือกตั้งใหม่ งบประมาณก็จะไม่ทันประกาศใช้ภายในเดือนตุลาคม พร้อมยกตัวอย่างการพิจารณาพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่ง และพาณิชย์ และพระราชกำหนดการให้ความช่วยเหลือและฟื้นฟูผู้ประกอบการธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ที่ฝ่ายค้าน อภิปรายทั้งเสนอแนะ ตำหนิ และชื่นชม แต่สุดท้ายก็ลงมติให้การอนุมัติ ทั้งที่หาก 2 พระราชกำหนดตกไป รัฐบาลก็อาจจะต้องยุบสภาเช่นกัน ดังนั้น จึงเชื่อว่า ส.ส. ไม่ว่าจะฝั่งใด ก็ต้องทำหน้าที่ในการเสนอความเห็น ชมบ้าง ติติงบ้างแล้วแต่ประสบการณ์ และความคิดเห็น และยืนยันว่า การแสดงความเห็นในสภา เป็นสิ่งที่ ส.ส. พึงกระทำ เพื่อให้ ผู้ยื่นกฎหมาย และรัฐบาลได้รู้ข้อบกพร่อง และนำไปปรับปรุง 

“27 พ.ค.ที่ผ่านมา มี พ.ร.ก. ที่เสนอโดยรัฐบาล ทั้งฝ่ายค้าน และรัฐบาล ให้ข้อเสนอแนะ ตำหนิ หลากหลาย แต่สุดท้าย ก็อนุมัติให้ความเห็นชอบด้วยกัน คำถาม คือ แบบนี้เรียก ละครโรงใหญ่เหมือนกันไหม? เพราะหาก พ.ร.ก.ตกไปตามมติสภา ก็มีผลเหมือนร่างงบประมาณฯ ตกไปเช่นกัน และแปลกใจที่พอตัวเองทำบอกเพื่อชาติ พอคนอื่นทำบอกเล่นละคร ผมยืนยันว่า การแสดงความเห็นในสภา เป็นสิ่งที่ ส.ส. พึงกระทำ เพื่อให้ ผู้ยื่นกฎหมาย ได้รู้ข้อบกพร่อง และนำไปปรับปรุง ดีกว่าไม่แม้แต่แสดงความคิดเห็นข้อ เสนอแนะ ในขณะที่มีโอกาส แล้วคอยมาหาเศษหาเลย มาสร้างวาทะกรรมสวยๆ” นายสิริพงศ์ กล่าว

แสดงความเห็น