กรมคุ้มครองสิทธิฯ จับมือเครือข่ายพันธมิตร จัดสัปดาห์ธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน หวังลดเหลื่อมล้ำ

กรมคุ้มครองสิทธิฯ จับมือเครือข่ายพันธมิตร จัดงานสัปดาห์ธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน 2021 ครั้งที่ 5 หวังลดความเหลื่อมล้ำ-ละเมิดสิทธิในภาคธุรกิจอย่างยั่งยืน 

นายเรืองศักดิ์ สุวารี อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ เปิดเผยว่า นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม มีนโยบายส่งเสริมการดำเนินงานและสร้างความตระหนักรู้ในเรื่องธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน โดยกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ จึงได้จัดงานสัปดาห์ธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน (Bangkok Business and Human Rights Week : BBHR Week 2021) ซึ่งปีนี้เป็นปีที่ 5 ที่ได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องทุกปีตั้งแต่ปี 2560 โดยกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ได้จับมือกับโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (United Nations Development Programme) สมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย (Global Compact Network Thailand) และผู้แทนไทยในคณะกรรมาธิการระหว่างรัฐบาลอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (Thai Representative to ASEAN Intergovernmental Commission on Human Rights)  เพื่อให้ทุกภาคส่วนได้ร่วมมือร่วมใจกันจัดกิจกรรมเน้นการสร้างความตระหนักรู้ในเรื่องธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน ผ่านการดำเนินธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบ ซึ่งมีกลุ่มเป้าหมายผู้แทนจากภาคส่วนต่าง ๆ ในเอเชีย-แปซิฟิก รวมถึงภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ ภาคธุรกิจ ภาคประชาสังคม นักวิชาการ และประชาชน ที่สนใจเข้าร่วมมากกว่า 3,000 คน 

โดยกิจกรรมในปีนี้จะจัดในรูปแบบออนไลน์ ซึ่งได้รับเกียรติจากสมาพันธรัฐสวิสและศูนย์อาเซียนเพื่อการหารือและการศึกษาวิจัยด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน ร่วมเป็นเจ้าภาพ โดยมี 2 กิจกรรม คือ 1. The ASEAN – Swiss Forum on SDG 12 (Responsible Consumption and Production) and Business & Human Rights: A Peer- Learning Event (กำหนดจัดวันที่ 31 พฤษภาคม 2564)  และ 2. The United Nations Responsible Business and Human Rights Forum – New Decade of Action? (RBHR Forum 2021) (กำหนดจัดวันที่ 1-4 มิถุนายน 2564) สำหรับผู้ที่สนใจเข้าร่วมสัปดาห์ธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน ประจำปี 2564 Bangkok Business & Human Rights Week 2021- BBHR WEEK สามารถลงทะเบียนได้ที่ https://www.rbhrforum.com พร้อมบริการล่ามแปลภาษาอาเซียน10 ภาษา 

นายเรืองศักดิ์ เปิดเผยอีกว่า ประเทศไทยต้องผลักดันให้เกิดการดำเนินการที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เช่น การสร้างความรู้ความเข้าใจแก่ SMEs เกี่ยวกับการประกอบธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบ การสร้างกลไกหรือหน่วยงานเพื่อติดตามตรวจสอบการลงทุนของธุรกิจสัญชาติไทยในต่างประเทศ และที่สำคัญต้องมีการสร้างความรู้สึกเป็นเจ้าของร่วมกันเกี่ยวกับประเด็นด้านธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนระหว่างภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ ภาคธุรกิจ ภาคประชาสังคม และประชาชน และยิ่งในปัจจุบันที่มีการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด จนส่งผลกระทบต่อสังคมในวงกว้าง เพิ่มอัตราการว่างงาน และปัญหาความยากจน ดังนั้น ทุกภาคส่วนจึงต้องร่วมมือกันเพื่อประกันว่าจะเกิดการเคารพสิทธิมนุษชนในการประกอบธุรกิจ ตลอดจนปฏิบัติตามเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนเพื่อลดผลกระทบด้านเศรษฐกิจและสังคมที่เกิดจากเชื้อไวรัสนี้ และทำให้สังคมกลับมาเข้มแข็งอีกครั้งโดยเร็ว

แสดงความเห็น