ส.ส. แนะ 4 แนวทาง แก้จุดอ่อน พ.ร.ก.ซอฟท์โลน – ให้ 3 ธนาคารรัฐ ปล่อยกู้ ให้เอสเอ็มอี

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ถึงการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การให้ความช่วยเหลือและฟื้นฟูผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2564 (ซอฟท์โลน) วงเงินไม่เกิน 3.5 แสนล้านบาท ซึ่งครม. เป็นผู้เสนอ โดยเป็นการแก้ไขเพิ่มเติม  พ.ร.ก.ฉบับเดียวกันที่มีผลบังคับใช้ เมื่อ 19 เมษายน 2563 เพื่อผ่อนปรนเงื่อนไขให้กลุ่มผู้ประกอบธุรกิจสามารถเข้าถึงการกู้เงินตามพ.ร.ก.ดังกล่าว ได้

ทั้งนี้ในการอภิปรายของส.ส.นั้น มีประเด็นน่าสนใจ โดยนายพิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล  อภิปรายว่า การช่วยเหลือผู้ประกอบการ ตามพ.ร.ก.ดังกล่าวไม่สามารถทำได้จริง เพราะพบว่ามีธนาคารปฏิเสธการให้กู้ยืมเงิน เช่น กรณีของผู้ประกอบการธุรกิจในจังหวัดภูเก็ต ที่ต้องการเงินกู้ไปพัฒนาฟื้นฟูธุรกิจและเตรียมพร้อมเข้าสู่โครงการภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ แต่พบว่าถูกปฏิเสธการให้กู้เงิน ด้วยหลายเหตุผล เช่น ธุรกิจโรงแรมที่ขอสินเชื่อไม่มีใบอนุญาต, ติดเครดิตบูโร, วงเงินกู้เต็มแล้ว ทำให้ผู้ประกอบการไม่สามารถได้รับความช่วยเหลือจากพ.ร.ก.ดังกล่าว ทั้งนี้ตนจะรวบรวมข้อมูลและเชิญผู้ประกอบการ หารือกับธนาคารแห่งประเทศไทยเพื่อหาทางช่วยเหลือต่อไป

นายพิจารณ์ กล่าวด้วยว่าตนมีข้อเสนอเพื่อช่วยธุรกิจขนาดเล็กในช่วงวิกฤต คือ ธนาคารแห่งประเทศไทย ควรเร่งสร้างความมั่นใจกับการค้ำประกันหนี้  เพื่อสร้างความเชื่อมั่น , จ่ายค่าธรรมเนียมพิเศษให้ธนาคาร หากพบการขอกู้เงินของเอสเอ็มอีต่ำกว่า 2 ล้านบาท , เร่งปล่อยสินเชื่อให้กับผู้ประกอบการรายย่อย ผ่านสถาบันการเงินของรัฐ และ รัฐบาลต้องตั้งคลินิกช่วยกู้ โดยเปิดคอลเซ็นเตอร์ ช่วยผู้ประกอบการให้เข้าถึงสินเชื่อของสถาบันเงิน

“ผมเห็นใจธนาคารแห่งประเทศไทย แม้จะตั้งหลักเกณฑ์และมาตรการให้ดี ยากชนะกลไกการตลาด ที่ธนาคารพาณิชย์ต้องคำนึงถึงผู้ถือหุ้น และผลประกอบการ ดังนั้นเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการรายย่อย ขอให้รัฐบาลหยุดโม้ว่าสามารถหยุดเชื้อได้ เพราะตัวเลขผู้ติดเชื้อไม่สูง แต่ควรพิจารณาถึงความเสียหายทางเศรษฐกิจ อย่างไรก็ดีรัฐบาลเป็นผู้ยื่นความเป็นหนี้ให้  ทั้งที่ผลกระทบไม่ได้เกิดจากการวางแผนธุรกิจหรือการเงินที่ไม่รอบคอบ ผิดพลาดของผู้ประกอบธุรกิจ แต่กลับเป็นรัฐบาลที่ล้มเหลว ไม่รอบคอบ ทำให้เสียสมดุลระหว่างสาธารณสุขและการรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ และรัฐบาลการ์ดตก ล้มเหลว สร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจ” นายพิจารณ์ กล่าว

ขณะที่นายกนก วงษ์ตระหง่าน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ อภิปรายโดยเชื่อว่า การแก้ไขพ.ร.ก.ดังกล่าว ไม่สามารถทำให้สถาบันการเงินที่กังวลต่อการปล่อยกู้ ในประเด็นไม่คุ้มค่ากับความเสียหาย กลับมาปล่อยกู้ได้ อีกทั้งการประกอบธุรกิจขณะนี้ พบว่าเกิดลักษณ์ ซอมบี้ คอมปานี หรือธุรกิจผีดิบ ที่ไม่เติบโต และไม่ตาย เชื่อว่าธนาคารจะไม่ปล่อยเงินให้กู้ ซึ่งจากการติดตามของกรรมาธิการฯ พบว่ามีกลุ่มธุรกิจรายย่อยมาร้องเรียนกับกรรมาธิการ และเมื่อกลับไปยังภูมิลำเนา พบว่าธนาคารปฏิเสธไม่ร่วมทำการค้าด้วย ดังนั้นความคิดและทัศนคติของธนาคารไม่เหมาะสม 

“หากเอสเอ็มอีตาย เศรษฐกิจอยู่ไม่ได้ และธนาคารอยู่ไม่ได้ ดังนั้นผมขอให้กระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทยคิดให้มาก ทั้งนี้ผมเห็นด้วยกับพ.ร.ก.ฉบับนี้ ผมยกมืออนุมัติให้  แต่ พ.ร.ก.ฉบับนี้มีจุดอ่อน คือไม่ช่วยธุรกิจเอสเอ็มอีให้เข้มแข็ง เพราะไม่มีการให้คำปรึกษาทางธุรกิจแบบใหม่ หลังจากวิกฤตโควิด-19 คลี่คลาย  ด้วยข้อจำกัดที่ช่วยการเงินให้เอสเอ็มอี ที่ช่วยไม่ครบและธนาคารพาณิชย์ไม่ให้ เนื่องจากกลัวเอ็นพีแอล เพราะมีหนี้มาก ทั้ง หนี้บัตรเครดิต 8 ล้านล้านบาท หนี้ครัวเรือน ดังนั้นควรใช่ธนาคารพาณิชย์ของรัฐ เช่น ธนาคารออมสิน ธนาคารธกส. ธนาคารกรุงไทย เป็นต้น กล้าเสี่ยงเพื่อช่วยเอสเอ็มอี ทั้งนี้ต้องออกระเบียบคู่ขนานเพื่อช่วยปรับโมเดลธุรกิจของเอสเอ็มอี” นายกนก กล่าว

แสดงความเห็น