นักวิชาการ รับ หวั่นเงินกู้ 7 แสนล้าน ถูกนำไปใช้ไม่โปร่งใส วอนรัฐคำนึงปัญหาความเหลื่อมล้ำ

นายยุทธพร อิสรชัย อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช เปิดเผยถึงกรณี ครม.อนุมัติ พ.ร.ก.กู้เงินเพิ่ม 7 แสนล้านบาท รับมือโควิดระลอกใหม่ว่า สิ่งสำคัญคือต้องทบทวนย้อนหลังว่าตลอดระยะเวลา 1 ปีที่มีการกู้เงินมาและเงินกำลังจะหมดลงแล้วนั้น เราได้ใช้จ่ายเงินตรงนั้นไปอย่างมีประสิทธิภาพอย่างไร เพราะยังไม่เห็นภาพประสิทธิผลอะไรได้ชัดเจนนัก เพราะฉะนั้นวันนี้ ที่จะกู้เงินเพิ่มเติมอีกจะต้องพิจารณาประเด็นหลัก 3 ประเด็น คือ 1.ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา จะเห็นว่าความเหลื่อมล้ำในประเทศไทยมีช่องว่างมากขึ้นเป็นลำดับ ดังนั้นควรจะต้องพูดถึงมาตรการต่างๆ เพื่อที่จะทำให้ความเหลื่อมล้ำลดลง 2.แรงงานกว่าร้อยละ 55 เป็นแรงงานนอกระบบ และในแรงงานร้อยละ 55 นี้มีแรงงานที่อยู่ในภาคเกษตรกรรมไม่น้อยกว่าร้อยละ 92 ดังนั้น เมื่อถึงจุดที่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจ จะเป็นกลุ่มคนที่ไม่ได้รับการเยียวยาจากระบบของประกันสังคม ดังนั้นจึงต้องทำให้เกิดความเสมอภาค และโอกาสที่จะเข้าถึงได้มากขึ้นกว่าเดิม 3.ระบบการคุ้มครองทางสังคม ที่ในประเทศไทยอยู่เพียงร้อยละ 3.7 ของจีดีพีเท่านั้น ในขณะที่บางประเทศที่พัฒนาแล้ว อย่างเกาหลีใต้อยู่ร้อยละ 10.1 ของจีดีพี ซึ่งระบบคุ้มครองทางสังคมตรงนี้จะเป็นสิ่งที่ทำให้เรื่องของความมั่นคงของมนุษย์ หลักประกันต่างๆในชีวิตที่จะทำให้ประชาชนได้รับการดูแล 

นายยุทธพร กล่าวว่า ดังนั้นการกู้เงิน 700,000 ล้านบาท แม้ว่าเงินส่วนใหญ่ 400,000 ล้านบาทจะนำไปใช้ในการเยียวยาให้พี่น้องประชาชนระยะสั้น หรือแม้กระทั่ง 270,000 ล้านบาท จะถูกนำไปใช้ในเรื่องการแก้ปัญหาการกระตุ้นเศรษฐกิจการจ้างงานและการลงทุนและอีก 30,000 ล้านบาทจะถูกนำไปใช้ในเรื่องระบบสาธารณสุขก็ตาม  แต่โอกาสที่เราจะเห็นการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืนจากการกู้เงินส่วนนี้ก็ยังมีไม่มากนัก นอกจากนี้ จำนวนเงินเหล่านี้ก็จะมีส่วนในการที่จะทำให้เกิดหนี้สาธารณะที่เพิ่มขึ้น ซึ่งปัจจุบันกรอบวินัยทางการเงินการคลังของประเทศไทยแม้ว่าจะยังไม่เกิน 60% แต่ในระยะยาวก็มีโอกาสที่จะเพิ่มขึ้น หากกรอบวินัยการเงินการคลังเกินกว่าร้อยละ 60 ขึ้นไป ความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจของประเทศไทยก็จะเกิดปัญหา ซึ่งก็จะมีความสัมพันธ์กับพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายแผ่นดินปี 2565 อีกด้วย จะเห็นว่า งบประมาณแผ่นดินที่จะทำกันอยู่ก็ยังคงเป็นโครงสร้างของงบประมาณแบบเดิมๆซึ่งยังไม่ได้เปลี่ยนแปลงในสาระสำคัญมากนัก ก็คือให้น้ำหนักในงบประมาณที่เป็นรายจ่ายประจำ ทั้งเงินเดือนและค่าตอบแทนต่างๆมากกว่างบลงทุน ดังนั้นการที่จะมีเงินในการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืนก็ยังเป็นส่วนที่น้อยอยู่ และงบประมาณแผ่นดินตรงนี้ก็จะถูกนำเงินที่กู้มา 700,000 ล้านบาทเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของเงินที่จะนำไปใช้จ่ายด้วย เราจึงเห็นปรากฏการณ์ของการขยายตัวของงบกลางที่เกิดขึ้นในระยะหลังมากขึ้นเป็นลำดับ ซึ่งสะท้อนให้เห็นปัญหาของความเป็นรัฐราชการของประเทศไทย ที่ทำให้เรื่องของงบกลางขยายตัวมากขึ้น เพราะแต่ละหน่วยงานต้องการความยืดหยุ่น ความคล่องตัวในการใช้จ่ายเงินตรงนี้ แต่อย่างไรก็ดีในการที่มีงบกลางมากขึ้นก็จะทำให้เรื่องของความโปร่งใสตรวจสอบได้หรือแม้กระทั่งประสิทธิภาพประสิทธิผลในการใช้จ่ายงบประมาณก็ถูกลดทอนความสำคัญลงไป และแน่นอนที่สุดว่าเงินกู้ที่กู้มา ส่วนใหญ่ก็คงจะไปอยู่ที่งบกลาง ดังนั้น กระบวนการที่จะทำให้เกิดความโปร่งใสและตรวจสอบได้ จึงเป็นสิ่งที่สำคัญมาก ดังนั้นการแก้ปัญหาในเชิงนโยบายที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจภายในและสร้างระบบเศรษฐกิจที่เป็นการวางรากฐานอย่างยั่งยืนซึ่งเป็นคำตอบที่สำคัญมากกว่าเรื่องของการกู้เงินมา เพราะที่ผ่านมาการกู้เงิน 1,000,000 ล้านบาทก็ไม่ได้ทำให้เศรษฐกิจหรือความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชนดีขึ้น

แสดงความเห็น