ในการประชุมคณะกรรมาธิการการสื่อสาร โทรคมนาคม และดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือ กมธ.ดีอี เมื่อวันที่ 7 ต.ค. ที่ผ่านมา ซึ่งมีน.ส.กัลยา รุ่งวิจิตรชัย เป็นประธานกรรมาธิการฯ ได้มีคำสั่งตั้งคณะอนุกรรมาธิการติดตามและตรวจสอบการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัลและความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ โดย มีพ.อ.ดร.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ สส.บัญชีรายชื่อพรรคภูมิใจไทย และรองประธานกมธ.ดีอี เป็นประธานคณะอนุกรรมาธิการฯชุดดังกล่าว ซึ่งการตั้งอนุกรรมาธิการฯชุดนี้ เป็นไปตามนโยบายและยุทธศาสตร์ของประเทศในด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัลและความปลอดภัยไซเบอร์ โดยมีความจำเป็นที่จะต้องมีการติดตาม ตรวจสอบการดำเนินโครงการต่างๆ ให้เป็นไปตามแผน มีความโปร่งใส และเป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจและประชาชน อีกทั้งยังเป็นการเตรียมพร้อมที่จะมีการนำเทคโนโลยี 5G มาใช้ในอนาคตอันใกล้
โดย พ.อ.ดร.เศรษฐพงค์ ให้สัมภาษณ์ว่า การตั้งคณะอนุกรรมธิการฯชุดนี้ สืบเนื่องมาจาการได้ลงพื้นที่จังหวัดภูเก็ตเพื่อติดตามโครงการ Smart city ซึ่งท่านประธานฯกัลยา ได้เห็นภาพชัดเจนของความสำคัญในการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล ที่เชื่อมโยงกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านโทรคมนาคมและความปลอดภัย จึงได้ตั้งคณะอนุกรรมาธิการนี้ขึ้น เพื่อติดตามตรวจสอบงานดังกล่าวโดยเฉพาะ ซึ่งอนุกรรมาธิการชุดนี้จะมีประมาณ 10-15 คน เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีการสื่อสาร การโทรคมนาคม การออกใบอนุญาต การประกอบกิจการโทรคมนาคม รวมทั้งด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ ทั้งนี้มีประเด็นสำคัญที่คณะอนุกมธ. ต้องดำเนินการ เช่น โครงการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงพื้นชายขอบ ที่กสทช. ได้ตัดสินใจยกเลิกสัญญาจ้าง บมจ. ทีโอที ในโครงการจัดให้มีสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่ และบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงในพื้นที่ชายขอบ หมู่บ้านในพื้นที่ชายขอบ (Zone C+) หรือโครงการ “เน็ตชายขอบ” ซึ่งเรื่องนี้ทางอนุกรรมาธิการฯ จะได้ติดตามและตรวจสอบการประมูลที่จะเกิดขึ้นใหม่อย่างใกล้ชิด ให้เกิดความถูกต้องยุติธรรม โปร่งใส เพื่อให้ประชาชนได้ใช้อินเทอร์เน็ตความเร็วสูงโดยเร็วและทั่วถึงอย่างเท่าเทียม รวมถึงเรื่องที่สำคัญอีกอย่าง ก็คืออนุกมธ.จะได้ติดตามตรวจสอบการรักษาวงโคจรดาวเทียมของไทยเพื่อให้สามารถทำงานและให้บริการแก่ประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจดิจิทัลในอนาคต
รองประธานกมธ.ดีอี กล่าวต่อว่า สำหรับการลงพื้นที่จังหวัดภูเก็ตของ กมธ.ดีอี ที่ผ่านมา เพื่อติดตามการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัล กับโครงการสมาร์ท ซิตี้ ซึ่งถือเป็นการลงพื้นที่ครั้งแรกของกมธ.ดีอี โดยสรุปการลงพื้นที่เป็นไปด้วยความเรียบร้อย หน่วยงานในพื้นที่ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี ซึ่งโครงการสมาร์ท ซิตี้ มีการพัฒนาคืบหน้าเป็นอย่างดี แม้ยังมีปัญหาอุปสรรคอยู่บ้างในเรื่องการสนับสนุนอย่างจริงจังจากภาครัฐ ซึ่งคณะกรรมาธิการฯ รับหน้าที่จะช่วยประสานงานนำปัญหาอุปสรรคไปสู่ฝ่ายนโยบายเพื่อหาแนวทางแก้ไขต่อไป ซึ่งการตั้งคณะอนุกรรมาธิการที่มีตนเป็นประธาน ส่วนหนึ่งก็คือการทำหน้าที่ติดตาม ตรวจสอบ การดำเนินโครงการ Smart city และ Smart safety อย่างจริงจัง ซึ่งมีจังหวัดภูเก็ตเป็นต้นแบบ เพื่อให้สามารถดำเนินการกับจังหวัดอื่นๆได้อย่างมีประสิทธิภาพ