ศาลรธน.ชี้ขาด จินตนันท์-พล.อ.นิพัทธ์ ร่วมสรรหาเป็น กสม. ไม่ถือว่ามีลักษณะต้องห้าม

ศาลรธน.ชี้ขาด ปม 2 อดีตสนช. ร่วมสรรหาเป็น กสม. ไม่ถือว่ามีลักษณะต้องห้าม ชี้สนช.ทำหน้าที่แทน ส.ส.-ส.ว. ไม่ใช่เป็น ส.ส.-ส.ว.โดยตรง แต่ไม่คืนสิทธิ เหตุมติคณะกรรมการสรรหากสม. ไม่ขัดรธน.

ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ อ่านคำวินิจฉัยเรื่องคำร้องที่ผู้ตรวจการแผ่นดินส่งคำร้องของ น.ส.จินตนันท์ ชญาต์รศุภมิตร และ พล.อ.นิพัทธ์ ทองเล็ก ผู้เข้ารับการสรรหาเป็นกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญ พิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 213 ว่าการที่คณะกรรมการสรรหากสม. วินิจฉัยตัดสิทธิในการเข้ารับการสรรหาเป็นกสม. เพราะมีลักษณะต้องห้ามตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ. 2560 มาตรา 10 (18) กรณีเคยเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ถือเป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพ เลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรม ขัดต่อหลักความเสมอภาค ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 27 หรือไม่นั้น

โดยศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่า พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ(พ.ร.ป.)ว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ. 2560 มาตรา 10 บัญญัติลักษณะต้องห้ามดำรงตำแหน่ง กสม.ไว้ว่า กรรมการต้องไม่มีลักษณะต้องห้าม (18) เป็นหรือเคยเป็น ส.ส. ส.ว. ข้าราชการการเมือง หรือสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นในระยะสิบปีก่อนเข้ารับการสรรหา ซึ่งรัฐธรรมนูญ มาตรา 263 วรรคหนึ่ง เป็นบทเฉพาะกาลบัญญัติให้ในระหว่างที่ยังไม่มีสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาตามรัฐธรรมนูญนี้ ให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติที่ตั้งขึ้นตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 ยังคงทำหน้าที่รัฐสภา สภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภาต่อไป และให้ สนช.ซึ่งดำรงตำแหน่งอยู่ในวันก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ ทำหน้าที่เป็น ส.ส. หรือ ส.ว. ตามลำดับ ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้ และให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ และสนช. สิ้นสุดลงในวันก่อนวันเรียกประชุมรัฐสภาครั้งแรกภายหลังการเลือกตั้งทั่วไปที่จัดขึ้นตามรัฐธรรมนูญนี้ 

ทั้งนี้ศาลรัฐธรรมนูญเคยมีคำวินิจฉัยที่ 1/2560 วินิจฉัยไว้แล้วว่า บทเฉพาะกาลที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญเป็นบทบัญญัติที่ยกเว้นเนื้อหาในรัฐธรรมนูญ ซึ่งจำเป็นต้องมีขึ้นเพื่อแก้ไขปัญหาในช่วงเปลี่ยนผ่านระหว่างการบังคับใช้รัฐธรรมนูญฉบับก่อนกับฉบับปัจจุบัน เพื่อให้การบังคับใช้รัฐธรรมนูญเป็นไปอย่างราบรื่นและเหมาะสมกับสภาพบ้านเมืองในระยะเริ่มแรก รวมทั้งเพื่อให้องค์กรนั้น สามารถปฏิบัติหน้าที่ตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติต่อไปได้อย่างต่อเนื่อง โดยมิให้เกิดช่องว่างอันจะส่งผลให้การปฏิบัติหน้าที่ต้องหยุดชะงัก จนกว่ากลไกที่กำหนดขึ้นใหม่หรือใช้บังคับนั้นมีความพร้อมหรือสามารถดำเนินการได้แล้วแต่กรณี ดังนั้นการปฏิบัติหน้าที่ของ สนช.จึงอยู่ในฐานะของการทำหน้าที่แทน ส.ส.และ ส.ว.ชั่วคราวในสถานการณ์ที่จำเป็นระหว่างรอการจัดตั้งองค์กรฝ่ายนิติบัญญัติตามรัฐธรรมนูญเท่านั้น ประกอบกับเมื่อพิจารณาคุณสมบัติ ที่มา ระยะเวลาในการดำรงตำแหน่ง และกรณีอื่นอีกหลายประการของสนช.มีความแตกต่างจากของ ส.ส.และส.ว. ดังนั้นการที่รัฐธรรมนูญ มาตรา 263 วรรคหนึ่งบัญญัติให้ สนช.ทำหน้าที่เป็น ส.ส. หรือ ส.ว.ตามลำดับนั้น ย่อมหมายถึง การให้ สนช.ทำภารกิจของตนด้วยความรับผิดชอบอย่าง ส.ส. และส.ว. โดยเป็นบุคคลที่ได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่แทนในระหว่างที่ยังไม่มีสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา และรัฐสภา แต่มิได้หมายความว่าสนช. เป็นส.ส. หรือส.ว. ดังนั้นการที่ผู้ร้องเรียนทั้งสองเคยดำรงตำแหน่ง สนช. ไม่ถือว่าเป็นหรือเคยเป็น ส.ส. หรือส.ว. อันเป็นลักษณะต้องห้ามตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ. 2560 มาตรา 10 (18)  ทั้งนี้การที่คณะกรรมการสรรหา กสม.มีมติตัดสิทธิ์ผู้ร้องเรียนทั้งสองในการเข้ารับการสรรหาเป็น กสม. เนื่องจากมีลักษณะต้องห้ามนั้น จึงเป็นมติที่ไม่ชอบด้วย พ.ร.ป.ว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ. 2560 มาตรา 10 (18)  

ส่วนที่ผู้ร้องเรียนทั้งสองอ้างว่า การวินิจฉัยของคณะกรรมการสรรหา กสม. ไม่สอดคล้องกับการวินิจฉัยของคณะกรรมการสรรหากรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) ซึ่งเป็นองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญเช่นเดียวกัน มติดังกล่าวเป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรม ซึ่งขัดต่อหลักความเสมอภาคนั้น ศาลเห็นว่า ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าคณะกรรมการสรรหากสม. เคยให้ผู้อื่นที่เป็นหรือเคยเป็น สนช.ได้รับการสรรหาเพื่อแต่งตั้ง ให้ดำรงตำแหน่งเป็นกสม. แต่ปรากฏตามคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาและเอกสารประกอบของคณะกรรมการสรรหากสม.ว่า ที่ผ่านมาคณะกรรมการสรรหา กสม.วินิจฉัยมาโดยตลอดว่าบุคคลใดที่เคยเป็น หรือเป็น สนช.มีลักษณะต้องห้าม ทำให้ไม่มีสิทธิเข้ารับการสรรหาได้ จึงไม่มีความแตกต่างไปจากการวินิจฉัยของผู้ร้องเรียนทั้งสอง มติดังกล่าวไม่เป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรม ไม่ขัดต่อหลักความเสมอภาค จึงไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 27 ส่วนคำขอคืนสิทธิให้ผู้ร้องเรียนทั้งสองนั้น เห็นว่าเมื่อมติดังกล่าวไม่ขัดหรือแย้งอื่นต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 27 จึงไม่จำต้องวินิจฉัยคำขอคืนสิทธิแต่อย่างใด ศาลรัฐธรรมนูญจึงวินิจฉัยว่า มติดังกล่าวของคณะกรรมการสรรหา กสม.ไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 27

แสดงความเห็น