“ณัฐวุฒิ ก้าวไกล” ฟัน “คดีธรรมนัส” ดูจากพยานหลักฐานและข้อ กม.แล้ว ไม่รอด

นายณัฐวุฒิ บัวประทุม ส.ส.บัญชีรายชื่อ ในฐานะรองหัวหน้าพรรคก้าวไกลให้สัมภาษณ์ถึงต่อกรณีศาล รธน.ได้นัดอ่านคำวินิจฉัยคดี ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมช.เกษตรและสหกรณ์ ว่าเคยต้องคำพิพากษาของศาลในประเทศออสเตรเลียให้จำคุกและถือว่าต้องพ้นจากสมาชิกภาพ ส.ส.และ รมต. ตามรัฐธรรมนูญหรือไม่ ในวันที่ 5 พ.ค. นี้ ว่ากรณีดังกล่าวเกิดขึ้นภายหลังการอภิปรายไม่ไว้วางใจ โดยแม้ ร.อ.ธรรมนัส จะได้รับคะแนนเสียงไว้วางใจ แต่เมื่อพวกตนพิจารณาพยานหลักฐานต่าง ๆ แล้ว เชื่อได้ว่า ร.อ.ธรรมนัส เคยต้องคำพิพากษาจำคุกในประเทศออสเตรเลียจริง ย่อมถือว่ามีลักษณะต้องห้ามในการลงสมัครรับเลือกตั้งตาม รธน. ม. 98 (10) เป็นเหตุให้พ้นสมาชิกภาพ ส.ส. และความเป็น รมต.สิ้นสุดลง พวกตนในนามพรรคก้าวไกล จึงได้ร่วมกันลงชื่อยื่นคำร้องต่อประธานรัฐสภา และต่อมาประธานรัฐสภาได้ส่งเรื่องให้ศาล รธน.วินิจฉัย ตั้งแต่เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2563

โดยตนเชื่อมั่นว่าศาล รธน.จะได้พิจารณาประเด็นสำคัญ 2 ประการด้วยกัน ประการแรกพิจารณาว่า ร.อ.ธรรมนัส เคยต้องคดีเกี่ยวกับยาเสพติดและถูกจำคุกในศาลในประเทศออสเตรเลียจริงหรือไม่ โดยในประเด็นนี้ล่าสุดคณะกรรมาธิการการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ สภาผู้แทนฯ ที่มี พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส เป็นประธานได้ส่งเอกสารสรุปของ กมธ.ให้กับศาล รธน.ประกอบการพิจารณาไปแล้ว และข้อมูลจากการแถลงข่าวนั้นแม้ ร.อ.ธรรมนัส จะปฏิเสธข้อกล่าวหาจากคดียาเสพติด แต่มิได้ปฏิเสธการเคยถูกดำเนินคดีในประเทศออสเตรเลีย ซึ่งคงเป็นประเด็นที่ศาลต้องพิจารณาอย่างละเอียดรอบคอบ เพราะอาจส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

ประเด็นที่สองคือคำพิพากษาของศาลต่างประเทศถือว่ามีผลผูกพันต่อประเทศไทยหรือไม่ หากเป็นกรณีพลเมืองโดยทั่วไป ตนยังย้ำหลักว่าต้องถือว่าเขาเคยได้รับโทษแล้ว และถือว่ามีสิทธิพลเมืองเฉกเช่นเดียวกับประชาชนคนอื่น แต่สำหรับกรณีคุณสมบัติของ ส.ส. และ รัฐมนตรีนั้นมีการกำหนดไว้เป็นการเฉพาะ ในอดีตกระทรวงมหาดไทยได้ทำหนังสือสอบถามไปยังกฤษฎีกา ซึ่ง ศ.ดร.อมร จันทรสมบูรณ์ เลขาฯ กฤษฎีกา ปรมาจารย์ด้าน กม.มหาชน ได้ทำบันทึกเป็นเรื่องเสร็จที่ 276/2525 วินิจฉัยว่า “บุคคลที่เคยต้องคำพิพากษาหรือคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายให้จำคุกไม่ว่าในประเทศหรือต่างประเทศตั้งแต่สองปีขึ้นไป …ในวันเลือกตั้ง ซึ่งมิใช่ความผิดอันได้กระทำโดยประมาทแล้ว ย่อมถือได้ว่าบุคคลนั้นเป็นบุคคลที่มีลักษณะต้องห้าม…” โดยนัยดังกล่าวจึงเป็นที่เข้าใจได้ว่าคำวินิจฉัยของศาลต่างประเทศนั้น ย่อมถือนำมาประกอบการวินิจฉัยคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้สมัคร ส.ส. และผู้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีได้ และเชื่อว่าศาล รธน. ก็จะพิจารณาไปในแนวทางเดียวกัน

“ด้วยเหตุผลดังกล่าว แม้ศาล รธน.จะได้วินิจฉัยคดีหลายเรื่องที่อาจสร้างความไม่มั่นใจให้กับพี่น้องประชาชน แต่ตนยังเชื่อมั่นสำหรับกรณีของ ร.อ.ธรรมนัส นั้น ไม่มีเหตุผลใดที่ศาลจะวินิจฉัยเป็นอื่นไปได้และเชื่อว่าศาลจะวินิจฉัยว่า ร.อ.ธรรมนัส มีลักษณะต้องห้ามมิให้ลงสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส. และคงต้องพ้นจากตำแหน่ง ส.ส. และรัฐมนตรี อย่างแน่นอน สมดังบทเพลงที่ว่า ปาฏิหาริย์ไม่มีจริง” นายณัฐวุฒิ กล่าว

แสดงความเห็น