พ.อ.หญิง ศิริจันทร์ งาทอง รองโฆษกกองทัพบก เปิดเผยว่า จากสถานการณ์ผู้ติดเชื้อโควิด-19 ของไทยในปัจจุบันที่ต้องเข้ารับการดูแลรักษาในโรงพยาบาล โดยศบค.และกระทรวงสาธารณสุข ได้มีการจัดตั้งรพ.สนามเพื่อดูแลผู้ติดเชื้อที่ไม่มีอาการหรืออาการไม่รุนแรงเข้ามารับการรักษาพยาบาล สำหรับกองทัพบกได้เตรียมการสนับสนุนเกี่ยวกับ รพ.สนาม มาอย่างต่อเนื่อง โดยกองทัพบกได้ใช้อาคาร สถานที่ในหน่วยทหาร และสิ่งอุปกรณ์ที่มีอยู่ดำเนินการจัดตั้งโรงพยาบาลสนามในขั้นต้นแล้ว จำนวน 19 แห่ง รองรับผู้ติดเชื้อได้ 3,050 เตียง ซึ่ง ปัจจุบัน รพ.สนามของกองทัพกได้เปิดดำเนินการแล้ว 7 แห่ง โดยมอบให้ กระทรวงสาธารณสุข เข้าบริหารจัดการแล้ว 3 แห่ง ได้แก่ 1. โรงพยาบาลสนามกองทัพบก (กรมทหารปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยานที่ 1) เปิดให้บริการเมื่อ 19 เมษายน 2564 รองรับผู้ป่วยได้ จำนวน 300 เตียง ปัจจุบันมียอดผู้ป่วยพักแล้ว จำนวน 246 ราย (25 เมษายน 2564) ซึ่ง กระทรวงสาธารณสุขได้มอบให้โรงพยาบาลมงกุฎวัฒนะจัดบุคลากรทางการแพทย์เข้ามาบริหารจัดการ โดยกองทัพบกได้ช่วยอำนวยความสะดวก และรักษาความปลอดภัยสถานที่ที่เป็นการทำงานในลักษณะกองอำนวยการร่วม แห่งที่ 2 คือ โรงพยาบาลสนามกองทัพบก (ศูนย์การทหารราบ) จ.ประจวบคีรีขันธ์ รับผิดชอบการดำเนินงานโดยโรงพยาบาลค่ายธนะรัชต์ รองรับผู้ป่วยได้ จำนวน 100 เตียง เปิดให้บริการเมื่อ 16 เมษายน 2564 ปัจจุบันมียอดผู้ป่วยเข้าใช้บริการ จำนวน 31 ราย (25 เมษายน2564)
พ.อ.หญิง ศิริจันทร์ กล่าวต่อว่า สำหรับแห่งที่ 3 คือ คือ โรงพยาบาลสนามกองทัพบก(กองพันทหารราบที่ 3 กรมทหารราบที่ 5) จ.สงขลา รองรับผู้ติดเชื้อได้ 100 ราย ปัจจุบันมีผู้เข้าพักแล้ว 36 ราย ส่วนโรงพยาบาลสนามกองทัพบก(กรมพลาธิการทหารบก) ได้เปิดให้บริการแล้วใน 21 เมษายน 2564 สามารถรองรับผู้ป่วยได้ จำนวน 200 เตียง โดยหลังกระทรวงสาธารณสุขเข้าตรวจสอบพื้นที่ ปัจจุบันอยู่ระหว่างการขยายเพื่อรองรับผู้ป่วยเพิ่มเติม โดยยังไม่มีผู้ป่วยเข้าพัก (25 เมษายน 2564) อยู่ระหว่างการปรับปรุง นอกจากนี้กองทัพบกยังได้จัดเตรียมโรงพยาบาลสนามกองทัพบก (กองพันทหารราบที่ 1 กรมทหารราบที่ 15) จ.กระบี่ สามารถรองรับผู้ป่วยได้ 280 ราย โรงพยาบาลสนามกองทัพบก (กองพลทหารราบที่ 15) จ.สงขลา สามารถรองรับผู้ป่วยได้ 100 ราย และโรงพยาบาลสนามกองทัพบก (กองพันเสนารักษ์ที่ 1) จ.ลพบุรี สามารถรองรับผู้ป่วยได้ 150 ราย ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีผู้ป่วยเข้าพัก โดยล่าสุดกองทัพบกเตรียมจัดตั้ง โรงพยาบาลสนามกองทัพบก(มณฑลทหารบกที่ 11) ที่กระทรวงสาธารณสุขเข้าตรวจสอบความคืบหน้า และยังอยู่ในระหว่างการปรับปรุงให้เหมาะสมตามคำแนะนำของโรงพยาบาลมงกุฎวัฒนะ ซึ่งจะจัดบุคลากรทางการแพทย์เข้าบริหารจัดการ โดยมีการแบ่งสัดส่วนชัดเจนเพื่อความปลอดภัย นอกจากนี้ในส่วนของโรงพยาบาลสนามกองทัพบก(เกียกกาย) ซึ่งกองทัพบกบริหารจัดการเอง ดำเนินการโดย ศบค.19 ทบ. และโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า รองรับผู้ติดเชื้อได้ 137 ราย เพื่อรองรับกำลังพลและครอบครัว เป็นการลดภาระของโรงพยาบาลสาธารณสุขและรองรับผู้ป่วยCOVID-19 อาการทุเลาแล้วจากโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า ซึ่งขณะนี้มีผู้เข้าพักแล้ว 101 ราย (25 เมษายน 2564)
พ.อ.หญิง ศิริจันทร์ กล่าวอีกว่า ล่าสุดจากการที่กระทรวงกลาโหมได้จัดชุดแพทย์ผสมเหล่าทัพไปสนับสนุน การบริการด้านการแพทย์ ให้กับรพ.สนามในความรับผิดชอบของกทม.นั้น ในส่วนของกองทัพบกได้มอบหมายให้ กรมแพทย์ทหารบก จัดชุดแพทย์ 2 ชุด จำนวน 10 นาย เข้าสนับสนุนการปฏิบัติงานของโรงพยาบาลสนาม เขตบางขุนเทียน กรุงเทพมหานคร ร่วมกับโรงพยาบาลลาดกระบัง ตั้งแต่ 22 เมษายน เป็นต้นไป โดยหมุนเวียนกับชุดแพทย์ของเหล่าทัพอื่น นอกจากนี้ กองทัพบกยังได้สนับสนุนรถพยาบาลเพื่อช่วยเคลื่อนย้ายผู้ติดเชื้อCOVID-19 ในกระบวนการรับ- ส่งผู้ป่วยจากที่พัก เพื่อเข้ารับการรักษา ณ รพ.สนามในพื้นที่ กทม. และปริมณฑล ตามนโยบายของนายกรัฐมนตรีที่ต้องการให้เพิ่มศักยภาพในกระบวนการรับ-ส่ง ผู้ป่วย โดยได้รับการสนับสนุนการจัดยานพาหนะ จากทุกเหล่าทัพ และโดยขณะนี้กองทัพบกสนับสนุนยานพาหนะ 10 คัน จาก กองทัพภาคที่ 1, หน่วยบัญชาการป้องกันภัยทางอากาศกองทัพบก และกรมการขนส่งทหารบก ซึ่งจะผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนทำงานเป็นวงรอบกับเหล่าทัพอื่นๆ ด้วย
พ.อ.หญิง ศิริจันทร์ กล่าวว่า อย่างไรก็ตามจากสถานการณ์COVID-19 ที่ผ่านมาทำให้บุคลากรทางการแพทย์แถวหน้าต้องทำงานอย่างหนัก อีกทั้งจำนวนผู้ติดเชื้อมีแนวโน้มสูงขึ้น ผู้บัญชาการทหารบกมีความห่วงใยในสถานการณ์ดังกล่าว ได้สั่งการให้ ศบค.19 ทบ. และกรมแพทย์ทหารบกได้จัดเตรียมกำลังพลที่เคยปฏิบัติงานสายแพทย์สำรองไว้ เพื่อเป็นกำลังสนับสนุนบุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้า โดยเฉพาะในช่วงที่จะมีการฉีดวัคซีนให้กับประชาชนจำนวนมากในอนาคต ซึ่งขณะนี้กองทัพบกได้จัดทำบัญชีรายชื่อและแผนการปฏิบัติงานรองรับสถานการณ์ไว้แล้ว พร้อมสนับสนุนเมื่อได้รับการร้องขอ
โดยมองว่างานด้านการรักษาพยาบาลถือเป็นหัวใจสำคัญของการดูแลประชาชน ให้ความสำคัญกับการรักษาพยาบาลและดูแลประชาชน เพื่อให้การดูแลประชาชนเป็นไปอย่างต่อเนื่อง และลดภาระบุคลากรทางการแพทย์แถวหน้าที่ทำงานหนักในสถานการณ์ที่ผ่านมา สำหรับการป้องกันการติดเชื้อในหน่วยทหาร เพื่อดำรงสภาพความพร้อมของกองทัพบกในการสนับสนุนภารกิจดูแลประชาชนในสถการณ์COVID-19 ขณะนี้กองทัพบกได้กระชับและดำรงความเข้มงวดใน “มาตรการพิทักษ์พล” และมีการปรับการปฏิบัติในบางภารกิจให้สอดคล้องกับสถานการณ์ อาทิ ยกระดับกองรักษาการณ์คัดกรองการผ่านเข้า-ออกหน่วยทหาร, การจัดสรรกำลังพลให้ปฏิบัติงานในลักษณะ WFH, หลีกเลี่ยงหรืองดการสังสรรค์แบบหมู่คณะ, การประชุมและจัดการเรียนการสอนออนไลน์, งดการฝึก, การรักษากำลังพลที่ติดเชื้อและกักตัวผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง เป็นต้น ส่วนการดูแลประชาชน
เพื่อลดผลกระทบและบรรเทาความเดือดร้อน ยังคงเดินหน้านโยบาย อาทิ Army Delivery, ช่วยเหลือเกษตรกร, อุดหนุนผลผลิตทางการเกษตร, แจกจ่ายหน้ากากอนามัย และเจลแอลกอฮอล์ พร้อมลงพื้นที่สร้างความรับรู้ให้กับประชาชนเกี่ยวกับการปฏิบัติตน การสังเกตและเฝ้าระวังอาการผิดปกติ รวมถึงหลีกเลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดCOVID-19 จากแนวโน้มของการแพร่ระบาดที่สูงขึ้นนี้ กองทัพบกได้ติดตามและเตรียมความพร้อมในศักยภาพทั้งบุคลากรสิ่งอุปกรณ์และความร่วมมือ พร้อมให้การสนับสนุนทุกภาคส่วนขับเคลื่อนให้มาตรการป้องกันและการรักษาพยาบาลของภาครัฐ สามารถรองรับและดูแลประชาชนได้อย่างดีที่สุด