‘ศิริกัญญา’ งงจัด ‘งบกลาง’ มีแต่ไม่ใช้ แนะจัดงบใหม่เยียวยาปากท้องเฉพาะหน้า

ศิริกัญญา เช็คกระเป๋าตังค์รัฐบาล รับมือ ‘ระบาดระลอกใหม่’ ชี้ แผนฟื้นฟู- กระตุ้นเศรษฐกิจหลุดเป้ากระจาย งง ‘งบกลาง’ มีแต่ไม่ใช้ แนะจัดงบใหม่เยียวยาปากท้องเฉพาะหน้า 

น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล รองหัวหน้าฝ่ายนโยบาย พรรคก้าวไกล และประธานคณะกรรมาธิการการพัฒนาเศรษฐกิจ สภาผู้แทนราษฎร ประเมินความพร้อมในการรับมือสถานการณ์โควิด -19 ที่กำลังมีการระบาดระลอกใหม่ โดยระบุว่า ผลสืบเนื่องจากสถานการณ์ทำให้เริ่มมีมาตรการหรือคำสั่งปิดสถานประกอบการออกมาเรื่อยๆ และคงตามมาด้วยการประกาศพื้นที่เสี่ยงในไม่ช้า หมายถึงผลกระทบต่อการทำมาหากินของพี่น้องประชาชน ปากท้องที่กำลังจะฟื้นกำลังจะกลับไปฟุบอีกครั้ง

“หน้าตักตอนนี้รัฐบาลน่าจะมีเงินสำหรับเยียวยาอยู่ราว 342,000 ล้าน จากเงินกู้ 1 ล้านล้านราว 220,000  ล้านบาท และจากงบกลางอีกเกือบ 120,000 ล้านบาท ซึ่งเงินกู้ 1 ล้านล้าน ในส่วนแผนงานเยียวยา 600,000 ล้านบาทใช้ไปหมดแล้วในการระบาด 2 ระลอก ถ้าต้องเยียวยาอีกรอบ ต้องโยกงบฟื้นฟูที่ยังไม่ได้อนุมัติมาใช้ เหลืออยู่ 220,000 ล้านบาท แต่จริงๆ แล้วยังทบทวนงบฟื้นฟูได้อีกรอบ เพราะที่อนุมัติไปก็เบิกจ่ายได้ต่ำมาก ถ้าระงับโครงการตอนนี้ จะได้งบเพิ่มอีกเกือบ 70,000 ล้านบาท”

น.ส.ศิริกัญญา ชี้ว่า ในการระบาดระลอกใหม่จำนวนผู้ติดเชื้อใหม่รอบนี้เริ่มเร่งตัวขึ้นอีกครั้งจากหลากหลายคลัสเตอร์ โดยเฉพาะคลัสเตอร์ทองหล่อ ยอดผู้ติดเชื้อใหม่ ณ วันที่ 10 เม.ย. เพิ่มเป็น 789 ราย  มีมาตรการหรือคำสั่งปิดสถานบันเทิงใน 41 จังหวัดทั่วประเทศ 22 จังหวัดประกาศให้ผู้ที่เดินทางจาก กทม. นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ และนครปฐม ต้องกักตัว 14 วัน ศบค.ยังคงประวิงเวลาแต่การประกาศพื้นที่เสี่ยงคงมีขึ้นในไม่ช้า น่าจะทำให้เทศกาลสงกรานต์ในปีนี้ไม่คึกคัก ประชาชนยกเลิกแผนการเดินทางและท่องเที่ยว จึงต้องประเมินว่าหากสถานการณ์เลวร้ายและต้องเยียวยา รัฐบาลจะมีเงินพอหรือไม่

เริ่มจากเงินกู้ 1 ล้านล้านบาทที่กำลังจะครบรอบ 1 ปีหลังจากการอนุมัติ มียอดการอนุมัติไปแล้วเกือบ 750,000 ล้านบาท แบ่งเป็น 3 แผนงาน คือ แผนงานสาธารณสุข วงเงิน 45,000 ล้านบาท อนุมัติไป 20,000 ล้านเศษ แต่เบิกจ่ายไปเพียง 5,000 ล้าน สำหรับแผนงานนี้ที่เบิกจ่ายล่าช้า เพราะโครงการส่วนใหญ่เพิ่งอนุมัติไปเมื่อเดือนมีนาคม โครงการใหญ่ๆ ได้แก่ ค่าตอบแทน อสม. 2,500 ล้านบาท และสมทบค่าใช้จ่ายให้โครงการ สปสช.หรือบัตรทอง 3,000 ล้านบาท

แผนงานที่ 2 แผนงานเยียวยาที่เคยตั้งไว้ 555,000 ล้านบาท ตอนนี้ขยายวงเงินเป็น 600,000 ล้านบาท และอนุมัติเกือบเต็มวงเงินแล้วที่ 596,000 ล้าน เพื่อรองรับการเยียวยาตั้งแต่ ‘เราไม่ทิ้งกัน’ ‘เราชนะ’ ‘ม.33 เรารักกัน’ และเติมเงินบัตรคนจน ก็คงไม่เหลือเงินสำหรับเยียวยาในรอบนี้

แผนงานที่ 3 แผนฟื้นฟูเศรษฐกิจที่เคยตั้งวงเงินไว้ 400,000 ล้านบาท และถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากตั้งแต่เริ่มต้นว่าจะมีการแบ่งเค้กกับ ส.ส. มีแต่โครงการตัดถนน ทำให้คณะกรรมการกลั่นกรองรับบทสุดเขี้ยว อนุมัติไปเพียง 1 ใน 3 อนุมัติว่าน้อยแล้ว เบิกจ่ายยิ่งต่ำเตี้ยเรี่ยดิน แผนงานย่อยพลิกฟื้นกิจกรรมเศรษฐกิจ ที่เคยขายฝันเกษตรอัจฉริยะ อุตสาหกรรม BCG ท่องเที่ยวเน้นคุณภาพ ได้อนุมัติไปเกือบ 30,000 ล้าน เบิกจ่ายไปไม่ถึง 5% ส่วน 2 โครงการใหญ่ คือ โครงการเกษตรแปลงใหญ่ 13,904 ล้าน อนุมัติไปตั้งแต่ 15 ก.ย. 63 เบิกจ่ายเป็น 0  โครงการ 1 ตำบล 1 มหาวิทยาลัย ขายเรื่องเพิ่มการจ้างงาน 10,000 ล้าน เบิกจ่ายไป 1,134 ล้านบาท 

“แผนงานย่อยฟื้นฟูเศรษฐกิจฐานรากและชุมชน โครงการหลักคือ ‘โคก หนอง นา โมเดล’ 2 เวอร์ชั่น เวอร์ชั่นแรกทำโดยกรมการพัฒนาชุมชน (พช.) งบเกือบ 5,000 ล้าน เบิกจ่ายไปได้ 486 ล้านบาท รายละเอียดโครงการเป็นการตั้งศูนย์เรียนรู้โคก หนอง นา 337 แห่ง แต่ไปโผล่ในค่ายทหาร 157 แห่ง  เวอร์ชั่น 2 ใช้ชื่อ 1 ตำบล 1 กลุ่มเกษตรทฤษฎีใหม่ แต่ทำโคก หนอง นา เหมือนกัน เคยได้อนุมัติงบไปเกือบ 10,000 ล้าน แต่ทำไม่ไหว ลดลงมาเหลือ 3,550 ล้าน แต่สุดท้ายโครงการก็ยังไม่คืบหน้าเบิกจ่ายไปแค่ 229 ล้าน แผนงานนี้ยังมีส่วนที่แต่ละจังหวัดขอมา รวม 204 โครงการ เพิ่งเบิกจ่ายไปแค่ 50 โครงการ ที่เหลือยังไม่ได้เริ่มทำ แผนงานย่อยสุดท้าย แผนงานกระตุ้นเศรษฐกิจ อนุมัติไปเกือบ 100,000 ล้านบาท ที่มาของงบโครงการ ‘คนละครึ่ง’ แบ่งเป็น 2 รอบ 52,500 ล้านบาท ‘เราเที่ยวด้วยกัน’ 15,000 ล้านบาท แต่ก็มีโครงการที่แป้กอย่างโครงการ co-payment ของกระทรวงแรงงาน ที่อุดหนุนการจ้างเด็กจบใหม่ รัฐจ่ายให้ครึ่งนึง ที่อนุมัติงบเกือบ 20,000 ล้าน แต่เบิกจ่ายแค่ 200 ล้านบาท”

น.ส.ศิริกัญญา ระบุว่า โดยสรุปสำหรับแผนงานฟื้นฟูเศรษฐกิจ จึงยังเหลือเงินอีก 220,000 ล้านบาทยังไม่ได้อนุมัติ และสามารถโยกข้ามมาเป็นเงินเยียวยาได้ แต่ควรทบทวนโครงการเดิมที่เบิกจ่ายไม่ถึงไหน เพื่อปรับลดวงเงิน และนำมาโปะเป็นเงินเยียวยาได้อีก สำหรับงบประมาณก้อนสุดท้ายคือ งบกลาง จากที่ในปี 63 แฮชแท็ก #งบกลางหายไปไหน ติดอันดับเทรนด์ทวิตเตอร์ ปีนี้คงต้องเปลี่ยนเป็น #งบกลางมีทำไมไม่ใช้ จากที่ขอสภาไป 139,000 ล้านเศษ เพิ่งอนุมัติไป 20,000 ล้านบาท ส่วนใหญ่ใช้ไปกับการซื้อวัคซีน 11,600 ล้านเศษ  เท่ากับยังเหลืองบกลางอีกราว 120,000 ล้านบาท สามารถนำมาใช้เยียวยาได้อีก จึงฝากให้พี่น้องประชาชนส่งเสียงดังๆ อีกครั้ง ถ้ายังล้มเหลวในการฟื้นฟูและกระตุ้นเศรษฐกิจ ก็ควรจัดงบใหม่มาเยียวยาปัญหาปากท้องเฉพาะหน้าประชาชนก่อน ประคับประคองให้ไม่ต้องมีใครเดือดร้อน อดตายจากมาตรการควบคุมโรคระบาดในปีนี้

แสดงความเห็น