นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร โฆษกพรรคก้าวไกล กล่าวถึงกรณีจากการระบาดของโควิด-19 ที่เริ่มต้นขึ้นที่สถานบันเทิงย่านทองหล่อ หรือที่เรียกว่า “คลัสเตอร์ทองหล่อ” ณ ขณะนี้ ต้องยอมรับว่า การระบาดได้ขยายตัวไปในวงกว้างอย่างรวดเร็ว จนกระทั่งวันนี้ เป็นที่ยืนยันแล้วว่า นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ตรวจพบว่าติดเชื้อโควิด-19 โดยสงสัยว่าอาจจะติดมาจากทีมงานหน้าห้อง ที่มีไทม์ไลน์เดินทางไปสถานบันเทิงย่านทองหล่อ ส่วนข้อสงสัยว่านายศักดิ์สยาม จะไปย่านทองหล่อหรือไม่ นั้น ก็คงต้องให้นายศักดิ์สยาม เป็นผู้ชี้แจงเอง
นายวิโรจน์ กล่าวว่า การระบาดระลอกที่ 3 จากสถานบันเทิงย่านทองหล่อ คนที่ต้องได้รับความเดือดร้อนทุกข์ยากมากที่สุด หนีไม่พ้นประชาชนคนตัวเล็กตัวน้อย พ่อค้าแม่ขาย คนขับรถแท็กซี่ มอเตอร์ไซค์รับจ้าง คนหาเช้ากินค่ำ ผู้ประกอบการ SMEs เจ้าของร้านอาหาร เป็นความสิ้นหวังที่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีก โดยก่อนหน้านี้ จากการระบาดที่เกิดขึ้นที่ตลาดกลางกุ้ง จ.สมุทรสาคร ก็ทำให้แทนที่ช่วงเทศกาลปีใหม่ คนทำมาหากิน จะพอหารายได้ที่เป็นกอบเป็นกำอะไรขึ้นมาบ้าง ก็ต้องประสบกับความผิดหวัง มาครั้งนี้ คนที่ประกอบสัมมาอาชีพ ก็หวังว่าเทศกาลสงกรานต์ปีนี้ จะพอขายของ หาเงินมาใช้หนี้ได้สักหน่อย ก็ต้องมาผิดหวังซ้ำอีก เป็นความผิดหวัง ที่กลายเป็นความสิ้นหวัง หมดอาลัยตายอยาก นี่ล่ะหน้าตาของความเสียหายทางเศรษฐกิจ ที่เกิดจากการฉีดวัคซีนล่าช้าเดือนละ 2.5 แสนล้านบาท ที่นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เคยทำหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และผู้อำนวยการ ศบค.
นายวิโรจน์ กล่าวต่อไปว่า ประชาชนทราบดีว่า วัคซีนไม่อาจจะที่จะป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้ทั้งหมด แต่อย่างน้อยๆ ก็มีรายงานว่าสามารถลดการแพร่กระจายเชื้อได้ โดยวัคซีน AstraZeneca ได้รายงานกับสื่อว่า การฉีดวัคซีน AstraZeneca นั้นสามารถลดการแพร่กระจายเชื้อได้ถึง 67% ที่สำคัญที่สุดของวัคซีนก็คือ ป้องกันไม่ให้ผู้ที่ติดเชื้อมีอาการรุนแรงจนเสี่ยงต่อการเสียชีวิต โดยวัคซีน AstraZeneca ก็ได้รายงานกับสื่อว่า สามารถป้องกันการอาการติดเชื้อรุนแรงได้ถึง 100% เพราะถ้าหากประเทศเต็มไปด้วยผู้ติดเชื้อที่อยู่ในภาวะวิกฤตเป็นจำนวนมาก เครื่องช่วยหายใจ เตียงคนไข้ ยา และเวชภัณฑ์ ตลอดจนบุคลากรทางการแพทย์ จะไม่เพียงพอต่อการรับมือโดยทันที ซึ่งจะนำไปสู่ความล้มเหลวของระบบสาธารณสุขของประเทศในที่สุด ดังนั้นการฉีดวัคซีน แม้ว่าประชาชนจะยังคงต้องใส่หน้ากากอนามัยอยู่ก็ตาม แต่วิถีชีวิต และการทำมาหากินประกอบสัมมาอาชีพ ของประชาชน จะกลับมาสู่สภาวะที่ใกล้เคียงกับปกติได้ แม้ว่าจะมีการระบาดเกิดขึ้น ก็จะสามารถควบคุมสถานการณ์ได้อย่างรวดเร็ว สามารถจำกัดความเสี่ยงได้
“ต้องยอมรับตรงๆ ว่า โควิด-19 เป็นโรคระบาด ดังนั้นการระบาดที่เกิดขึ้นเป็นระยะๆ เป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นได้ เพราะทุกคนต้องปฏิบัติหน้าที่ ทุกคนต้องใช้ชีวิต ทุกคนต้องทำมาหากินประกอบสัมมาอาชีพ เราไม่สามารถห้ามไม่ให้คนที่มีหน้าที่หยุดปฏิบัติหน้าที่ได้ เราไม่สามารถสั่งให้คนหยุดทำมาหากิน และอยู่กับบ้านเฉยๆ ได้ แต่สิ่งที่เราทำได้ ก็คือ การลดความเสี่ยงในการแพร่เชื้อ และลดผลกระทบจากการติดเชื้อ ซึ่ง “วัคซีน” คือ เครื่องมือเดียวที่ตอบโจทย์นี้ได้”
นายวิโรจน์ ยังตั้งข้อสังเกตถึงการจัดการของสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิดว่า ที่ผ่านมารัฐบาลดูเบาต่อสถานการณ์เป็นอย่างมาก และตราบใดก็ตามที่ยังจัดหาวัคซีนมาได้อย่างล่าช้า คือ ตามแผน ณ ปัจจุบัน กว่าวัคซีนล็อตใหญ่จาก AstraZeneca จะเริ่มส่งมอบ นั้นก็ต้องรอถึงเดือนมิถุนายน (มิ.ย. 6 ล้านโดส ก.ค.-พ.ย. เดือนละ 10 ล้านโดส และ ธ.ค. 5 ล้านโดส) เลยทีเดียว คำถามก็คือ กว่าประชาชนส่วนใหญ่จะได้รับการฉีดวัคซีนตามแผนเดือนละ 10 ล้านโดส (เดือน มิ.ย. ฉีด 5 ล้านโดส ก.ค.-ธ.ค. ฉีดเดือนละ 10 ล้านโดส) เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ และฟื้นคืนการดำเนินชีวิต และเศรษฐกิจปากท้อง ที่ใกล้เคียงกับปกติให้กับประชาชนทั้งประเทศ นี่ต้องรอจนถึงเดือนมิถุนายน เชียวหรือ แล้วตั้งแต่วันนี้ จนถึงวันนั้น กับปัญหาปากท้อง ปัญหาการทำมาหากิน การว่างงาน และหนี้ครัวเรือนที่สุมเพิ่มขึ้นทุกวัน ประชาชนจะอยู่กับมันอย่างไร รัฐบาลจะเยียวยาอย่างไร โดยทางออกของเรื่องนี้ ขออนุญาตเสนอแนะ ให้นายอนุทิน หาทางเร่งจัดหาวัคซีนอื่นๆ ให้มาก่อนเดือนมิถุนายน ได้หรือไม่ ซึ่งตนเองก็ยอมรับว่า คงเป็นอะไรที่ยากมากๆ เพราะการสั่งซื้อวัคซีนส่วนมากจะต้องเป็นการสั่งซื้อล่วงหน้า แต่ปัญหาที่เกิดขึ้น ณ ขณะนี้ นี่คือเครื่องยืนยันของความล่าช้าในการจัดหาวัคซีน และการประเมินสถานการณ์ที่ต่ำเกินไปของรัฐบาล เป็นอย่างดี เพราะต่อให้รัฐบาลยอมเข้าร่วมกับโครงการ COVAX ณ วันนี้ ก็คงยากที่จะได้รับวัคซีนภายในไตรมาสที่ 2
“ต่อให้รู้ว่ายากอย่างไร รัฐบาลก็ต้องเร่งเจรจาเพื่อจัดหาวัคซีน และเร่งฉีดวัคซีนให้เร็วกว่านี้ให้ได้ จะปล่อยให้เศรษฐกิจของประเทศพังทลายไปเรื่อยๆ ประชาชนเดือดร้อนทุกข์ยากอย่างแสนสาหัส ไปจนถึงเดือนมิถุนายน ไม่ได้ วัคซีนที่มีโอกาสที่จะจัดซื้อ และเร่งการส่งมอบได้มากที่สุด น่าจะเป็นวัคซีนซิโนแวค ซึ่งตามข่าวเมื่อวันที่ 20 มีนาคม ที่ผ่านมา คุณอนุทิน ได้แจ้งให้กับสื่อมวลชนทราบว่า กำลังเจรจาจัดซื้อวัคซีนซิโนแวค เพิ่มเติมอีก 5 ล้านโดส ซึ่งจำนวน 5 ล้านโดสนี้ สามารถเร่งการส่งมอบภายในเดือนเมษายน หรือเดือนพฤษภาคมได้หรือไม่ เพื่อจะได้เร่งฉีดให้กับประชาชนภายในเดือนพฤษภาคมเลย โดยไม่ต้องรอจนถึงเดือนมิถุนายน” นายวิโรจน์ กล่าว
ทั้งนี้ นายวิโรจน์ กล่าวทิ้งท้ายว่า อีกโครงการหนึ่งที่อยากให้กระทรวงสาธารณสุขรายงานความคืบหน้าให้กับประชาชนได้ทราบก็คือ จากข่าวที่ปรากฏว่า ที่ประชุมสุดยอดภาคี 4 ประเทศ (Quadrilateral Security Dialogue) หรือ Quad เห็นชอบให้จัดสรรวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ให้แก่อาเซียน ภายในปี 2565 โครงการดังกล่าวนี้ ท่าทีของกระทรวงสาธารณสุขนั้นเป็นเช่นไร และมีความคืบหน้าในการเข้าร่วมโครงการหรือไม่ เพื่อป้องกันไม่ให้การเสียโอกาสในการได้รับวัคซีนของประเทศ เหมือนกับกรณีที่ประเทศไทยไม่ได้เข้าร่วมโครงการ COVAX นั้นเกิดขึ้นมาอีก ซึ่งตนรู้ว่าการจัดหาวัคซีนมาอย่างเร่งด่วนมันยาก แต่ตนต้องการให้นายอนุทินลองเจรจากับวัคซีนซิโนแวคดูเป็นไปได้ หรือไม่ได้อย่างไร และอยากให้ชี้แจงนายอนุทิน ในฐานะรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขชี้เเจงประเด็นนี้ให้ประชาชนได้รับทราบ เพราะที่มันช้าอยู่ในทุกวันนี้ ก็ล้วนเป็นวิบากกรรมมาจากการบริหารราชการกระทรวงสาธารณสุขของนายอนุทินทั้งสิ้น
“ผมขอเรียกร้องให้คุณอนุทิน ชี้แจงให้กับประชาชนได้รับทราบด้วยครับ และย้ำอีกครั้งหนึ่งว่า ถ้าไม่สามารถบริหารงานราชการให้จัดหา และจัดฉีดวัคซีนให้เร็วกว่านี้ได้จริงๆ ผมคิดว่าอย่ายื้อครับ ยอมให้เอกชนเขาเข้ามาร่วมจัดหา และจัดฉีดวัคซีนได้แล้ว อย่ากลัวเสียหน้าครับ ชีวิต และปากท้องของประชาชน 67 ล้านคน สำคัญกว่ามากครับ” นายวิโรจน์ กล่าวทิ้งท้าย