กมธ.ดีอี วาง 9 กรอบการทำงาน “เศรษฐพงค์” เผย กมธ.พร้อมสนับสนุนตามนโยบายรัฐบาล – ปชช. ต้องใช้เทคโนโลยีดิจิทัล อย่างทั่วถึงปลอดภัย เป็นธรรม


การประชุมคณะกรรมาธิการการสื่อสาร โทรคมนาคมและดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เพื่อวางกรอบการทำงานของคณะกรรมาธิการฯ โดยภายหลังการประชุม นางสาวกัลยา รุ่งวิจิตรชัย ส.ส.สระบุรี พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการฯ กล่าวว่า วันนี้เป็นการประชุมเป็นวันที่สองติดต่อกันของกรรมาธิการฯ ซึ่งเรียกสั้นๆให้เข้าใจง่ายก็คือ กมธ.ดีอี โดยวันนี้เราได้วางกรอบการงานอย่างชัดเจนในเรื่องที่เกี่ยวกับการสื่อสาร สารสนเทศ การโทรคมนาคม ระบบดิจิทัล ซึ่งในกรอบการทำงานของเรามีทั้งหมด 8 ข้อ เช่นการติดตามแสวงหาข้อเท็จจริง การศึกษา การส่งเสริม การทำกิจกรรม ที่อยู่ในขอบข่ายงานของกรรมาธิการฯ ยืนยันว่าทุกเรื่องที่กรรมาธิการฯ ชุดนี้จะเข้าไปดำเนินงาน จะต้องอยู่บนพื้นฐานประโยชน์ของพี่น้องประชาชน ไม่มีการหมกเม็ด เล่นพรรคเล่นพวกเพื่อประโยชน์ส่วนตัวแน่นอน กรรมาธิการทุกคนจะร่วมกันทำงานเป็นหนึ่งเดียว เพราะเรื่องเทคโนโลยีดิจิทัลมีผลต่อเศรษฐกิจและสังคมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ นั่นก็เท่ากับว่ามีผลกระทบต่อประชาชนกัน ดังนั้นกรรมาธิการฯจะยืนหลักประโยชน์ประชาชนมาก่อนเสมอ

ด้านนางสาวภาดาท์ วรกานนท์ ส.ส.กรุงเทพฯ พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะโฆษกคณะกรรมาธิการ กล่าวว่า กรอบการทำงานของคณะกรรมาธิการฯทั้ง 8+1 ข้อ ที่เกี่ยวข้องกับการสื่อสาร สารสนเทศ การโทรคมนาคม ระบบดิจิทัล คือ 1.การพิจารณาสอบหาข้อเท็จจริง 2.การพิจารณาทำกิจกรรมด้านกฎหมายที่เกี่ยวข้อง 3.การศึกษา ให้ความเห็น ข้อสังเกต และข้อเสนอแนะให้กับองค์กรที่เกี่ยวข้อง 4.การส่งเสริมสนับสนุน และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีการสื่อสารฯ. 5.การส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยี เพื่อการอุปโภค บริโภค การสาธารณูปโภค ให้ครอบคลุม มีคุณภาพ ราคาเหมาะสม 6.สนับสนุนการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร ยกระดับการศึกษาด้านการสื่อสาร 7.ติดตามการปฏิบัติตามแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐและยุทธศาสตร์ชาติ ว่าด้วยนโยบายการสื่อสารฯ และ 8.การจัดสัมมนาและศึกษาดูงานเกี่ยวกับการสื่อสารสารสนเทศ โทรคมนาคม และดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม

ส่วนนายสรอรรถ กลิ่นประทุม ประธานที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากกรอบการทำงานทั้ง 8 ข้อ ที่เราจะใช้เป็นหลักในการทำงานของกรรมาธิการแล้ว ตนคิดว่าเนื่องจากกรรมาธิการฯชุดนี้ มีภารกิจที่เกี่ยวข้องมีผลกระทบต่อประชาชนทั้งสังคม จึงอยากจะเพิ่มกรอบการทำงานเป็นข้อที่ 9 เอาไว้คือ เรื่อง อื่นๆ ที่คณะกรรมาธิการฯ เห็นว่าควรเข้าไปดำเนินการ ตรงนี้เป็นการเปิดกว้างเอาไว้ให้กรรมาธิการฯ ได้มีทางออกในการทำงาน หากไม่อยู่ใน 8 กรอบ แต่เป็นเรื่องที่มีประโยชน์ต่อประชาชน กรรมาธิการก็สามารถนำเรื่องเข้าที่ประชุมเพื่อขอมติเข้าไปดำเนินการได้

ขณะที่พ.อ.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย ในฐานะรองประธานกรรมาธิการฯ กล่าวว่า นอกจากนี้ยังมีรายละเอียดของภารกิจที่สำคัญด้านการนติดตามการดำเนินตามนโยบายของรัฐบาล คือการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลเพื่อมุ่งสู่การเป็นประเทศอัจฉริยะ โดยกรรมาธิการจะได้ส่งเสริมการรักษาคลื่นความถี่และสิทธิในการเข้าใช้ดาวเทียมอันเป็นสมบัติของชาติ ให้เกิดประโยชน์สูงสุด การติดตามการลงทุนในอินเทอร์เน็ตเกตเวย์และเทคโนโลยีสื่อสารไร้สายในระบบ 5G ให้เป็นไปอย่างต่อเนื่อง รองรับการเชื่อมต่อจำนวนมากให้ได้ รวมทั้งการสนับสนุนเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในรูปแบบการค้าอิเล็กทรอนิกส์ พร้อมทั้งจะได้มีการทบทวนกฎหมายเพื่อยกระดับมาตรฐานด้านความปลอดภัยไซเบอร์ การคุ้มครองผู้บริโภค

“จะเห็นได้ว่าเรื่องเทคโนโลยีดิจิทัล มีความสำคัญในชีวิตประจำวันของพี่น้องประชาชนอย่างมาก มีความเกี่ยวของในทุกกิจกรรมในรอบวัน ยืนยันว่ากรรมธิการฯจะเดินหน้าทำงานเพื่อให้พี่น้องประชาชน ได้ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลอย่างเท่าเทียบ ทั่วถึง ด้วยคุณภาพ และมีความปลอดภัย ในราคาที่ยุติธรรม” พ.อ.เศรษฐพงค์ กล่าว

แสดงความเห็น