รมว.ยธ.เปิดเวทีรับฟังการใช้ศูนย์ JSOC-กำไล EM ติดตามนักโทษคดีสะเทือนขวัญก่อนพ้นคุก

รมว.ยุติธรรม เปิดเวทีรับฟังการใช้ศูนย์ JSOC-กำไล EM ติดตามพักโทษนักโทษคดีสะเทือนขวัญก่อนพ้นคุก1-2 ปี ครั้งที่ 3 ให้สังคมเกิดความตื่นตัวเฝ้าระวัง-ผู้ต้องขังปรับตัวก่อนพ้นโทษจริง เผย 2 เวทีแรกเห็นด้วยกับแนวทางแต่ต้องฟังข้อมูลให้รอบด้าน

ที่ห้องประชุมออดิทอเรียม โรงแรมเซ็นทรา บาย เซ็นทารา ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เป็นประธานในพิธีเปิดการสัมมนาทางวิชาการเรื่อง “การพัฒนาระบบการเฝ้าระวังการกระทำผิดซ้ำในชุมชน” ครั้งที่ 3 โดยมี ว่าที่ ร.ต.ธนกฤต จิตรอารีย์รัตน์ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม  นายธนวัชร นิติกาญจนา ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม นายสามารถ เจนชัยจิตรวาณิชย์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงยุติธรรม นายวิทยา สุริยะวงศ์ รองปลัดกระทรวงยุติธรรม นายวิตถวัลย์ สุนทรขจิต อธิบดีกรมคุมประพฤติ คณะผู้บริหารกระทรวงยุติธรรม เครือข่ายภาคประชาชน นักวิชาการ และสื่อมวลชนร่วมงาน

นายสมศักดิ์ กล่าวว่า จากคดีสะเทือนขวัญต่างๆที่ปรากฏเป็นข่าวในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา หลายๆกรณีได้สร้างความกังวลใจให้แก่ประชาชนเกี่ยวกับความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน โดยจากการตรวจสอบข้อมูลพบว่า ผู้ที่ไปกระทำผิดในลักษณะสะเทือนขวัญดังกล่าว มักจะเป็นผู้ที่เคยต้องโทษจำคุกในเรือนจำ และได้รับการปล่อยตัวเมื่อรับโทษจนครบกำหนด โดยไม่มีการเฝ้าระวังและติดตาม ตรวจสอบพฤติกรรมภายหลังพ้นโทษ และกลับไปดำรงชีวิตอยู่ในชุมชน กระทรวงยุติธรรมจึงมีความห่วงใยในความปลอดภัยของประชาชน โดยได้นำสภาพปัญหาและความต้องการไปกำหนดแผนและกลไกต่างๆ ทั้งในเรื่องของกฎหมาย จะต้องปรับแก้ให้เหมาะสมกับสถานการณ์ แต่กระบวนการทางกฎหมายมีความจำเป็นต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่ง ดังนั้นกรมคุมประพฤติ กระทรวงยุติธรรม จึงได้ดำเนินการควบคู่กันเป็นการเร่งด่วน คือการจัดตั้ง ศูนย์เฉพาะกิจเฝ้าระวัง (JSOC) ขึ้น เพื่อทำหน้าที่ในการเฝ้าระวังและติดตามผู้พ้นโทษในคดีสะเทือนขวัญ ด้วยกลไกทางสังคมและความร่วมมือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยผลดำเนินการที่ผ่านมาถือว่าทำได้ดี ผู้กระทำผิดที่พ้นโทษไม่หวนกลับไปกระทำผิดซ้ำ และประกอบอาชีพที่เป็นกิจลักษณะ 

นายสมศักดิ์ กล่าวอีกว่า เมื่อพิจารณาจากแนวคิดที่ว่า หากชุมชนรู้ถึงอันตรายในชุมชนจะไม่มีผู้ได้รับอันตราย ซึ่งปรากฏเป็นตัวอย่างที่ดีจากต่างประเทศ กระทรวงยุติธรรมจึงแสวงหาวิธีเพื่อกำหนดเป็นนโยบาย ที่จะเฝ้าระวังและติดตามพฤติกรรมผู้กระทำผิดที่เคยก่อในคดีสะเทือนขวัญ หรือมีความเสี่ยงที่จะทำผิด ด้วยการพักการลงโทษให้ผู้กระทำผิดออกมาปรับตัวใช้ชีวิตร่วมกับสังคม และมีมาตรการคุมความประพฤติ รวมทั้งนำอุปกรณ์ติตดามตัว หรือกำไล EM มาใช้เป็นเครื่องมือในการเฝ้าระวังและติดตาม โดยนำอาสาสมัครคุมประพฤติ ภาคีเครือข่ายภาคประชาชน เข้ามามีส่วนร่วมในการสอดส่องดูแล จึงนับเป็นโอกาสสำคัญ สำหรับผู้ต้องขังที่เคยมีพฤติกรรมร้ายแรงที่ได้กลับมาดำรงชีวิตกับสังคมก่อนพ้นโทษ และเปิดโอกาสให้สังคมได้ใช้เวลาปรับตัวในการอยู่ร่วมกับผู้ที่ได้รับการพักโทษ มีมาตรการทางกฎหมายของกรมคุมประพฤติ มาตรการทางสังคมที่เหมาะสม รองรับความมั่นใจในความปลอดภัยให้กับสังคม ดังนั้นเพื่อความรอบคอบ และทำให้นโยบายมีประสิทธิภาพ จึงต้องรับฟังความคิดเห็นจากผู้เกี่ยวข้องอย่างรอบด้าน

“สังคมอาจตกใจว่าทำไมไม่ขังผู้กระทำผิดจนครบโทษ หากเราขังจนครบกำหนดแล้วปล่อยตัวมา สังคมจะไม่เกิดการระวังตัว อาจจะเกิดเหตุการณ์ในลักษณะแบบที่ผ่านๆมาได้ หากกลุ่มผู้ทำผิดนี้ได้รับการปล่อยตัวก่อนประมาณ 1-2 ปี แต่ยังอยู่ในสถานะของนักโทษเด็ดขาด โดยมีกลไกเฝ้าระวังโดยศูนย์ JSOC ติดกำไล EM และสร้างการรับรู้ให้กับสังคมว่ามีบุคคลอันตรายอยู่ในพื้นที่ เพื่อให้สังคมช่วยกันเฝ้าระวังน่าจะดีกว่าสังคมไม่รู้อะไรเลย การสัมมนาในครั้งนี้เป็นครั้งที่ 3 ซึ่งเวทีที่ผ่านมา 2 เวทีเห็นด้วย มีการแลกเปลี่ยนความรู้ สร้างความเข้าใจและเกิดการมีส่วนร่วมจากเครือข่ายภาคราชการและนักวิชาการ จนได้ข้อเสนอแนะเพื่อนำไปปรับให้เกิดข้อสรุปที่เหมาะสมครบถ้วนรอบด้าน นำไปใช้ปฏิบัติงานได้จริง” นายสมศักดิ์ กล่าว

แสดงความเห็น