“กรมคุ้มครองสิทธิ” เตรียมแก้ร่างพ.ร.บ.ตอบแทนเหยื่อคดีอาญา หวังขยายกรอบช่วยปชช.

“กรมคุ้มครองสิทธิ” เตรียมแก้ร่างพ.ร.บ.ตอบแทนเหยื่อคดีอาญา 15 มาตรา หวังขยายกรอบช่วยประชาชน เพิ่มช่องทางออนไลน์เต็มรูปแบบเพื่อความรวดเร็วทั่วถึง “เรืองศักดิ์” เผยอยู่ในชั้นรับฟังตาม ม.77 ชวน ปชช.แสดงความเห็นผ่านเว็บไซต์เพื่อให้กฎหมายสมบูรณ์

นายเรืองศักดิ์ สุวารี อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ เปิดเผยว่า กระทรวงยุติธรรมโดยกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ได้มีการทบทวนแก้ไขกฎหมายร่าง พ.ร.บ.ค่าตอบแทนผู้เสียหาย และค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา  (ฉบับที่ 3) พ.ศ. …. ตามแนวทางของ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.ยุติธรรม  โดยจะแก้ไข 15 มาตรา โดยมีประเด็นที่สำคัญ คือ 1.ขยายการช่วยเหลือเยียวยาผู้ต้องหาในชั้นสอบสวนที่มิได้กระทำความผิด 2.เพิ่มการช่วยเหลือเยียวยาจำเลยหรือแพะในชั้น สอบสวนจากเดิมกฎหมายมีแค่ชั้นพิจารณาคดี 3.ขยายระยะเวลาการยื่นคำขอจาก1 ปี เป็น 2 ปี เพื่อเพิ่มโอกาสการช่วยเหลือประชาชนที่ตกเป็นเหยื่อในคดีอาญาให้เข้าถึงความยุติธรรม 4.เพิ่มการบริการผ่านทางระบบอิเล็กทรอนิกส์อย่างเต็มรูปแบบเพื่อให้การทำงานรวดเร็ว ทั่วถึง กระจายการช่วยเหลือลงสู่ระดับจังหวัด และ 5.ลดขั้นตอนการช่วยเหลือเยียวยาให้สั้นลง ไม่เพิ่มภาระการบริการของประชาชน      

“ปัจจุบันการแก้ไขกฎหมายอยู่ในระหว่างการรับฟังความคิดเห็นตามมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 โดยเปิดรับฟังความคิดเห็นผ่านทางเว็บไซต์ และประสานหนังสือแจ้งไปยังส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ เอกชน NGO เพื่อเปิดรับฟังความคิดเห็นอย่างกว้างขวาง และจะมีการจัดประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อวิพากษ์ร่างพระราชบัญญัติค่าตอบแทนผู้เสียหาย และค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา (ฉบับที่ 3) พ.ศ. …. จำนวน 790 คน ผ่านระบบ Video Conference ครอบคลุมพื้นที่ทุกจังหวัด ในวันที่ 1 มี.ค. 2564 จึงขอประชาสัมพันธ์ให้ผู้ที่สนใจเข้าร่วมแสดงความคิดเห็นในร่างกฎหมายดังกล่าวผ่านทางเว็บไซต์กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพได้ตั้งแต่บัดนี้จนถึงวันที่ 28 ก.พ. 2564 ความคิดเห็นของท่านจะเป็นประโยชน์ต่อการนำไปปรับปรุงแก้ไขกฎหมายให้มีความครบถ้วนสมบูรณ์ยิ่งขึ้นต่อไป” นายเรืองศักดิ์ กล่าว

นายเรืองศักดิ์ กล่าวว่า ปัจจุบันกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ มี พ.ร.บ.ค่าตอบแทนผู้เสียหายและค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา พ.ศ. 2544 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2559 ได้ให้ความช่วยเหลือบุคคล 2 กลุ่ม ได้แก่ 1. ผู้เสียหายในคดีอาญา บุคคลซึ่งได้รับความเสียหายถึงแก่ชีวิต ร่างกายหรือจิตใจเนื่องจากการกระทำความผิดอาญาของผู้อื่น โดยตนมิได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดนั้นหรือเหยื่ออาชญากรรม และ 2. จำเลยในคดีอาญา จะต้องเป็นบุคคล ซึ่งถูกพนักงานอัยการฟ้องต่อศาลว่าได้กระทำความผิดอาญาและถูกจำคุกในระหว่างพิจารณาคดี ต่อมาได้มีการถอนฟ้องหรือศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ยกฟ้องว่าจำเลยไม่ได้กระทำความผิดหรือที่เรียกว่า แพะ ทั้งนี้จากการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าวยังไม่ครอบคลุมการช่วยเหลือผู้ต้องหาและจำเลยในชั้นสอบสวน และมีปัญหาและอุปสรรคในการดำเนินงานจากสาเหตุหลายประการ เราจึงจำเป็นต้องมีการปรับแก้เพื่อให้ประชาชนทุกคนได้รับความเป็นธรรม

แสดงความเห็น