กมธ.ปลดล็อกพืชกระท่อมถกครบ 8 มาตรา หั่นเวลาบังคับใช้เหลือ 90 วัน นัดประชุมทบทวนอีกครั้ง 15 ม.ค. ก่อนเสนอสภาให้ทันสมัยนี้ “สมศักดิ์” ยัน อะไรที่เป็นประโยชน์กับประชาชนต้องรีบทำทันทีแต่ต้องไม่ผลีผลาม
ที่รัฐสภา มีการประชุมคณะกรรมาธิการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่…) พ.ศ…. โดยมีนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.ยุติธรรมและประธาน กมธ. เป็นประธานในการประชุม โดยมีวาระการพิจารณา ร่าง พ.ร.บ.ฯเป็นรายมาตราซึ่งมีทั้งหมด 8 มาตรา
นายสมศักดิ์ กล่าวว่า เราต้องเร่งทำร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ เพราะเคยมีการทำกฎหมายเมื่อ 40 ปีก่อน แต่ยังไม่สำเร็จ แต่ในขณะนี้ตนมั่นใจว่า กมธ.เห็นความสำคัญของพี่น้องประชาชนที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ของทุกท่าน สังคมเรียกร้อง และที่ตนได้ไปพบผู้เกี่ยวข้องในกระบวนการ ซึ่งไม่มีใครขัดในการปลดล็อกกระท่อม เป็นแนวทางที่เราต้องพิจารณาร่วมกัน กระทรวงยุติธรรม โดยคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด(ป.ป.ส.) ได้ยกร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ และเสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ซึ่งเราได้กำหนดไทม์ไลน์ไว้อยู่แล้ว แต่อาจจะมีติดขัดบ้างเพราะสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 ตนยืนยันว่าอะไรที่เป็นประโยชน์กับประชาชนต้องลงมือทำทันที
โดยในมาตรา 2 การกำหนดให้ พ.ร.บ.นี้บังคับใช้เมื่อพ้นกำหนด 180 วัน นับตั้งแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป ที่ประชุมได้อภิปรายหารือถึงการกำหนดวันบังคับให้สั้นลงกว่าเดิม โดยนายวิชัย ไชยมงคล เลขาธิการป.ป.ส. ในฐานะเลขานุการกมธ. ชี้แจงว่า ตอนแรกที่ ป.ป.ส.เสนอเราไม่ได้กำหนดระยะเวลา แต่เมื่อเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา ทางกฤษฎีกามีความเป็นห่วง จึงเสนอให้กำหนดระยะเวลาดังกล่าว เพื่อให้มีเวลาเตรียมตัวและเพื่อให้มีระยะเวลาในการร่าง พ.ร.บ.พืชกระท่อม ซึ่งอยู่ในขั้นการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกาแล้ว จากนั้นที่ประชุมได้ลงมติ โดยเสียงข้างมากในที่ประชุมเห็นด้วยกับการปรับแก้ระยะเวลา
นายกนก วงษ์ตระหง่าน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะประธานที่ปรึกษากมธ. ได้เสนอให้ พ.ร.บ.ฉบับนี้มีผลบังคับใช้ทันทีหลังการประกาศใช้ เพราะสารสกัดต่างๆ หรือการนำไปใช้ในอุตสาหกรรมต่างๆมีกฎหมายและระเบียบควบคุมอยู่แล้ว เช่น องค์การอาหารและยา(อ.ย.) และระเบียบของกระทรวงอุตสาหกรรม ส่วนเจตนารมณ์ของการแก้ปัญหาเรื่องนี้เกี่ยวกับปัญหาของชาวบ้านที่ใช้ตามวิถีชีวิตจะได้ไม่ตกเป็นจำเลยสังคม ตนมองว่าพืชกระท่อมเป็นสมุนไพร เป็นพืชที่มีศักยภาพทางเศรษฐกิจเยอะมาก แต่มีการอคติทางวิชาการหรืออะไรก็ตาม ตนอยากให้ใช้ความหลากหลายทางชีวะภาพพัฒนาประเทศในอนาคต และไม่อยากให้บล็อกพืชกระท่อม ตั้งเงื่อนไขในการปลูกเพื่ออุตสาหกรรม อาจจะทำให้ชาวบ้านปลูกไม่ได้ เราต้องไม่คิดว่ากระท่อมเป็นยาเสพติดแต่เป็นสมุนไพรและทำอย่างไรให้เราใช้ได้ร่วมกันไม่ให้กลุ่มใดกลุ่มหนึ่งได้ประโยชน์
ด้าน นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน ส.ส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย ในฐานะรองประธานกมธ. กล่าวว่า ตนสนับสนุนกับการให้บังคับใช้ทันทีหรือเต็มที่ตนคิดว่าไม่น่าจะเกิน 60 วันเพราะทางคณะกรรมการกฤษฎีกามีงานด้านกฎหมายเป็นร้อยๆฉบับ ตนคิดว่าเอาสัก 60 วันน่าจะเหมาะสม ส่วนนายมารุต มัสยวาณิช ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย ในฐานะรองประธานกมธ. กล่าวว่า ตนคิดว่าอะไรทำได้ก็ควรทำเลย ประกาศใช้ทันทีหรือ 30 วันก็ได้
นายสมศักดิ์ กล่าวว่า ตนอยากให้เวลาการทำงานกับหน่วยงานที่จะต้องออกกฎหมายรอสักเล็กน้อย การทำเร็วถือว่าดีแต่ว่าต้องทำให้ทัน หากเราผลีผลามไปประชาชนส่วนใหญ่อาจจะไม่เข้าใจ อาจจะหาว่าเราใจร้อนไป ตนคิดว่าเราพบกันครึ่งทางเอาสัก 90 วัน แล้วไปบริหารเวลาโดยบูรณาการร่วมกันได้หรือไม่ ที่ผ่านมาตนทำอะไรต้องเร็วอยู่แล้ว ไม่เคยไปกีดกันใคร อะไรที่ทำได้ตนทำหมด แต่อยากให้เป็นธรรมกับทุกฝ่าย การที่เรามาตัดลดระยะเวลาปกติไม่ค่อยมีใครทำกันอยู่แล้ว แต่ตนให้เกียรติ กมธ.ทุกท่านในการอภิปรายเสนอความเห็น
ทางด้านนายเทพไท เสนพงศ์ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะรองประธาน กมธ. อภิปรายว่า ทำอย่างไรจะทำให้กฎหมายที่ส่งเสริมพืชกระท่อมให้เป็นพืชเศรษฐกิจ และคนที่ตั้งใจจะทำให้เป็นพืชเศรษฐกิจเขาจะได้คิดล่วงหน้าว่าจะทำผลิตภัณฑ์อะไรบ้างและต้องเตรียมการเพาะปลูกอย่างไร ป.ป.ส.สามารถออกระเบียบควบคุมได้ทันเวลาหรือไม่
จากนั้นเสียงที่ประชุมส่วนใหญ่เห็นด้วยกับระยะเวลาการบังคับใช้ 90 วัน และที่ประชุมได้พิจารณาร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ครบทั้ง 8 มาตราซึ่งส่วนใหญ่จะเกี่ยวกับการยกเลิกบทลงโทษเกี่ยวกับพืชกระท่อม และกมธ.ได้นัดประชุมอีกครั้งในวันที่ 15 ม.ค. เพื่อทบทวน ก่อนเตรียมเสนอเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร อภิปรายและลงมติในวาระที่สองและสามต่อไป