รมว.ยุติธรรม เปิดสัมมนาอาสาสมัครคุมประพฤติ หวังเป็นกลไกสร้างความเชื่อมั่นและความปลอดภัยให้กับสังคม ชี้ต้องหาวิธีเตรียมพร้อมรับมือกลุ่ม7นักโทษร้ายแรงกรณีพ้นโทษ เชื่อหากติดตามได้สังคมรู้ว่าอยู่ไหนจะปลอดภัย
ที่โรงแรมเบสท์ เวสเทิร์นพลัส แวนด้า แกรนด์ แจ้งวัฒนะ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เป็นประธานเปิดการสัมมนา การบริหารองค์การอาสาสมัครคุมประพฤติ เพื่อเป็นกลไกสร้างความเชื่อมั่นและความปลอดภัยให้กับสังคม พร้อมด้วยนายวิตถวัลย์ สุนทรขจิต อธิบดีกรมคุมประพฤติ คณะผู้บริหารกรมคุมประพฤติ อาสาสมัครคุมประพฤติ และเจ้าหน้าที่ ร่วมงาน
นายวิตถวัลย์ กล่าวว่า อาสาสมัครคุมประพฤติ คือภาคประชาชนที่เข้ามามีส่วนร่วมในกิจการของกรมคุมประพฤติ ตาม พ.ร.บ.คุมประพฤติ พ.ศ.2559 ซึ่งอาสาสมัครคุมประพฤติเป็นกลไกหลักในเชิงพื้นที่ในการส่งเสริมสนับสนุนการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม และการสร้างโอกาสด้านอาชีพแก่ผู้กระทำผิด เพื่อใช้ชีวิตในชุมชนได้อย่างปกติสุขและเป็นที่ยอมรับแก่สังคม คุมประพฤติมีอาสาสมัครฯทั่วประเทศ 20,182 คน โดยระเบียบกระทรวงยุติธรรมว่าด้วยการบริหารองค์การอาสาสมัครคุมประพฤติ 2561 กำหนดโครงสร้างการบริหารงาน 3 ระดับ คือ อำเภอ จังหวัดและภาค ซึ่งกรมคุมประพฤติมีการปรับโครงสร้างโดยให้มีกลไกการบริหารองค์การในระดับประเทศ เป็นองค์การหลักในการบริหารจัดการเชิงระบบ กำหนดกลไกทำงานและวางนโยบายการดำเนินงานของอาสาสมัครฯ เพื่อสนับสนุนภารกิจของกรมคุมประพฤติและกระทรวงยุติธรรมให้บรรลุเป้าหมายเพื่อคืนคนดีสู่สังคมต่อไป
นายสมศักดิ์ กล่าวว่า กระทรวงยุติธรรมได้มุ่งเน้นการดำเนินงาน ทำให้ประชาชนเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมได้โดยง่าย โดยในส่วนของกรมคุมประพฤติ มีหน้าที่ดูแลควบคุมผู้กระทำผิดที่พ้นโทษ รวมทั้งการคุมประพฤติผู้คนในระยะสั้นและยาว ทั้งนี้ตนต้องขอชี้แจงอาสาสมัครทุกท่านว่า กรมคุมประพฤติจะเป็นเจ้าภาพหลักในการร่วมปฏิบัติการกับหน่วยงานอื่นๆที่เกี่ยวข้อง และเพื่อให้ภารกิจของกระทรวงยุติธรรมเกิดสัมฤทธิ์ผล เครือข่ายภาคประชาชน จึงเป็นส่วนสำคัญที่จะเข้ามามีส่วนร่วมเพื่อสร้างความเชื่อมั่นและความปลอดภัยให้กับสังคม และยังเป็นกลไกในการช่วยให้ผู้กระทำผิดสามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมไปในทางที่ดีขึ้นและช่วยเสริมสร้างความสงบสุขให้เกิดขึ้นในสังคม โดยนโยบายหลักๆของกระทรวงยุติธรรม เช่น การปราบปรามยาเสพติด และการลดความแออัดในเรือนจำ เกี่ยวเนื่องกับอาสาสมัครฯ เพราะวันนี้ร้อยละ 80 ในเรือนจำเป็นผู้ต้องขังคดียาเสพติด ที่เราได้มีการพักโทษผู้ประพฤติดีโทษเหลือน้อยด้วยการติดกำไล EM ให้อาสาสมัครฯช่วยติดตามแลกเปลี่ยนข้อมูลซึ่งกันและกัน
นายสมศักดิ์ กล่าวอีกว่า การปราบปรามยาเสพติด หากเราไม่มีการปรับเปลี่ยนวิธีการจะเสียเปล่า เพราะนโยบายยังไม่ลึกไปถึงการแก้ปัญหาได้ ในอดีตเราปราบปรามโดยตั้งด่านจับกุมเน้นที่จำนวนเม็ดยา เหมือนกับการที่เราไม่อยากให้คนเป็นเบาหวาน แล้วไปตามจับน้ำตาลก็คงไม่มีทางป้องกัน ดังนั้นต้องไปจับที่ต้นตอคือโรงงานผลิต ยาเสพติดก็เหมือนกัน เราต้องไปยึดทรัพย์ตัดวงจรยาเสพติด ซึ่งขณะนี้เรากำลังเริ่มดำเนินการ ซึ่งตั้งเป้าไว้ 6,000 ล้านบาท โดยขณะนี้มีเทคโนโลยีใหม่ๆและร่างประมวลกฎหมายยาเสพติดที่กระทรวงยุติธรรมเสนอเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาแล้ว ซึ่งจะมีเรื่องของการยึดทรัพย์ย้อนหลังตามการประเมินรายได้ด้วย ซึ่งกฎหมายฉบับนี้จะทำให้การทำงานของเจ้าหน้าที่ง่ายขึ้น และปัญหายาเสพติดจะลดลงได้
“กรณีผู้ต้องขังที่ทำความผิดร้ายแรง 7 ประเภท คือ ฆ่าข่มขืนเด็ก ฆ่าข่มขืน ฆาตรกรต่อเนื่อง ฆาตรกรโรคจิต สังหารหมู่ ปล้นฆ่าชิงทรัพย์และนักค้ายาเสพติดรายสำคัญ หากเขาพ้นโทษเราจะทำอย่างไรไม่ให้ทำความผิดอีก เช่นกรณี นายสมคิด พุ่มพวง พอพ้นโทษออกจากเรือนจำก็ไปฆ่าคนตายอีก เราจึงตั้งศูนย์ JSOC ขึ้นมาเพื่อเฝ้าระวัง โดยอาสาสมัครฯจะเป็นเครือข่ายด่านแรก ในการเผยแพร่ข่าวสารให้สังคมรับรู้ ถ้าสังคมใดรับรู้ว่าผู้พ้นโทษ 7 คดีร้ายแรงอยู่ที่ไหนสังคมก็จะปลอดภัย และต้องมีกระบวนการเพื่อให้สังคมรับรู้และเตรียมพร้อมว่าบุคคลนี้กำลังจะพ้นโทษกลับออกมาในสังคมแล้วซึ่งผมคิดว่าน่าจะดีกว่าการที่เราปล่อยตัวเขาออกมาโดยไม่ได้ให้สังคมเตรียมพร้อมเลย” นายสมศักดิ์ กล่าว