รมว.ยธ. ฝากกรรมการสงเคราะห์-ภาคีเครือข่ายช่วยหาแนวทางพัฒนาเด็ก ป้องกันทำผิดซ้ำ

รมว.ยุติธรรม เปิดโครงการสร้างความร่วมมือภาคประชาสังคมกับกรมพินิจฯ ป้องกันการกระทำผิดซ้ำ ฝากกรรมการสงเคราะห์-ภาคีเครือข่ายช่วยหาแนวทางพัฒนาเด็กและเยาวชน ชี้ ทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกันทุกอย่างจะสำเร็จ 

ที่โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ แอท เซ็นทรัลพลาซ่า ลาดพร้าว กรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน จัดโครงการสร้างความร่วมมือระหว่างภาคประชาสังคม  กับกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน เพื่อป้องกันการกระทำผิดซ้ำ โดยมีนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม นายธนวัชร นิติกาญจนา ที่ปรึกษา รมว.ยุติธรรม นายวิทยา สุริยะวงค์ รองปลัดกระทรวงยุติธรรม พ.ต.ท.วรรณพงษ์ คชรัตน์ อธิบดีกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน ข้าราชการจากหลายภาคส่วนในกระทรวงยุติธรรม และกรรมการสงเคราะห์และภาคีเครือข่ายทั่วประเทศร่วมงาน โดยก่อนการเปิดพิธี นายสมศักดิ์ ได้เดินเยี่ยมนิทรรศการ “ความร่วมมือการสงเคราะห์กับการแก้ไข ฟื้นฟู บำบัดเด็กและเยาวชน และสร้างโอกาสแก่เด็กและเยาวชนในการต่อยอดสู่อาชีพในอนาคต” 

พ.ต.ท.วรรณพงษ์ กล่าวรายงานว่า การจัดโครงการในครั้งนี้เพื่อยกระดับความร่วมมือของกรรมการสงเคราะห์และภาคีเครือข่ายทางสังคมในการเข้ามามีส่วนร่วมผลักดัน ส่งเสริม สนับสนุน และสร้างโอกาสแก่เด็กและเยาวชนที่เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมเพื่อป้องกันการทำผิดซ้ำ โดยยกระดับขีดความสามารถในการบริหารงานของผู้บริหารทุกระดับให้มีความเข้าใจ สามารถปรับเปลี่ยนกลยุทธ์กระบวนการทำงานด้านการบริหารเครือข่ายได้อย่างมีประสิทธิภาพ นำไปสู่ความสามารถในการขับเคลื่อนการดำเนินงานตามภารกิจของกรมพินิจฯ ซึ่งเป็นการสร้างประสบการณ์เรียนรู้ การสร้างแรงจูงใจ และสร้างผลงานในการแก้ไข บำบัด ฟื้นฟู เด็กและเยาวชนในกระบวนการยุติธรรม ตลอดจนเสริมสร้างแนวทางดำเนินการของกรรมการสงเคราะห์ที่สอดรับกับภารกิจของกรมพินิจฯให้รู้ทันเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลง 

จากนั้น นายสมศักดิ์ กล่าวเปิดโครงการและปาฐกถาพิเศษ “การส่งเสริมภาคีเครือข่าย ในการเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการยุติธรรมเด็กและเยาวชน” ตอนหนึ่งว่า การสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ดีให้เด็กและเยาวชนอาจจะไม่สำเร็จหากไม่ได้รับความร่วมมือจากภาคีเครือข่าย และกรรมการสงเคราะห์เป็นส่วนสำคัญที่ช่วยให้เด็กและเยาวชน รวมถึงการเตรียมพร้อมให้เด็กและเยาวชนมีความพร้อม ทั้งอาชีพและการฝึกทักษะต่างๆให้พวกเขากลับคืนสังคมได้ตามปกติ การจัดโครงการนี้จะเป็นการยกระดับความร่วมมือ สร้างโอกาสให้เด็กและเยาวชนสอดคล้องกับยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไป สิ่งที่กระทรวงยุติธรรมดำเนินการในเรื่องของภาคีเครือข่าย และแนวทางที่ควรรู้และควรปฏิบัติ รวมถึงสิ่งที่จะทำให้เกิดประโยชน์สูงสุด บุคลากรทุกท่านเป็นสิ่งที่สำคัญมากๆในการปรับพฤติกรรมและแนวคิดของเด็กและเยาวชน หากทำไม่ได้จะเกิดปัญหาตามมามากมาย ซึ่งเด็กและเยาวชนมีโอกาสที่จะทำผิดซ้ำแล้วซ้ำอีก 

นายสมศักดิ์ กล่าวอีกว่า ตัวเลขของเด็กและเยาวชนที่กลับไปทำผิดซ้ำ ปีแรก 22% ปีที่สอง 13% ปีที่สาม 9% รวมแล้ว 43 % เป็นสิ่งที่น่าตกใจว่า 43% จะวนเวียนกลับมาจุดนี้อีก และอีกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกันอย่างกรมราชทัณฑ์ ตัวเลขผู้พ้นโทษกลับมาทำผิดประมาณ 33% และส่วนใหญ่เป็นคดีเกี่ยวกับยาเสพติด ซึ่งหน่วยงานป้องกันยาเสพติดหลักตอนนี้คือ ป.ป.ส. ที่ร่วมกับ ทหารและตำรวจ ซึ่งปีหนึ่งต้องใช้งบประมาณจำนวนมาก ซึ่งงบประมาณก็มาจากภาษีของประชาชน ดังนั้นเราจะทำอย่างไรให้ปัญหายาเสพติดหมดไป ที่ผ่านมาเราทำลายยาเสพติดไปแล้ว อย่างยาบ้า 600 ล้านเม็ดมูลค่าต้นทุนประมาณ 300 ล้านบาท ยาไอซ์ประมาณ 17,000 กว่ากิโล แต่ยาที่ผลิตที่สามเหลี่ยมทองคำมีมูลค่ากว่า 60,000 ล้านเหรียญ ตีเป็นเงินไทยประมาณ 1.8 ล้านล้านบาท ตนจึงมีแนวคิดการยึดทรัพย์ตัดวงจร ถ้าเราทำแบบเดิมปัญหายาเสพติดไม่มีทางลดได้เลย ซึ่งเมื่อยาเสพติดไม่หมดปัญหาอื่นๆก็ตามมาอีก 

“ในฐานะที่ผมเป็นผู้บริหาร หากเรายังปล่อยให้เขากลับมาทำผิดอีกเหมือนเดิมคือ 44% ปัญหาก็จะเหมือนเดิม แนวทางที่ผมชอบคือ ศาสตร์พระราชา เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา ท่านเข้าใจแล้ว แต่การเข้าถึงนั้นเราจะทำอย่างไรให้ตัวเลขลดลงไป เด็กวันนี้อายุไม่เกิน 18 ปี ต้องอยู่บนโลกอีกหลายสิบปี ผมถามหลายคนบอกว่าเราต้องทำให้เขาเรียนหนังสือและมีงานทำ ดังนั้นผมจึงได้มอบนโยบายไปยังกรมราชทัณฑ์และกรมพินิจ เราต้องฝึกทักษะอาชีพ และควรจะพูดภาษาอังกฤษได้ รวมถึงการหัดทำบัญชี จะได้รู้การวางแผนค่าใช้จ่าย ถ้าเราดูแลให้ดีๆผลกระทบในรูปแบบอื่นๆที่จะตามมาจะลดลงไปด้วย วันนี้เราต้องร่วมมือช่วยกันทำงานทุกภาคส่วนในกระทรวงยุติธรรมให้ทุกอย่างสำเร็จไปด้วยกัน” นายสมศักดิ์ กล่าว

แสดงความเห็น