“สมศักดิ์” ควงปลัดวิศิษฎ์ ตรวจความพร้อมการประมูลทรัพย์ หลังหยุด 3 เดือนเพราะพิษโควิด-19 พร้อมเร่ง กรมบังคับคดีอธิบายแนวทางช่วยเหลือ SMEs
นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม พร้อมด้วย นายวิศิษฎ์ วิศิษฎ์สรอรรถ ปลัดกระทรวง เดินทางตรวจความพร้อมการเปิดขายทอดตลาดทรัพย์สินทั่วประเทศ ที่จะเริ่มขายตั้งแต่วันจันทร์ที่ 1 มิถุนายน นี้ เป็นต้นไป หลังปิดการประมูลทรัพย์มา 3 เดือน จากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 หรือ โควิด-19 ซึ่งมีนางอรัญญา ทองน้ำตะโก อธิบดีและผู้บริหารกรมบังคับคดีให้การต้อนรับ
นายสมศักดิ์ ได้เดินตรวจความพร้อมทุกขั้นตอนด้วยตัวเอง โดยระบุว่า น่าพอใจ การเตรียมความพร้อม อยู่ในมาตรการแบบวิถีใหม่ เช่น ผู้เข้าร่วมการประมูล ลงทะเบียนเข้าออก ผ่าน www.ไทยชนะ.com / มีช่องทางซื้อทะเบียนล่วงหน้าผ่านอิเล็กทรอนิกส์ หน้าเว็บไซต์กรมบังคับคดี เพื่อลดความแออัด/ สวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา ไม่เช่นนั้นจะไม่อนุญาตให้เข้าร่วม /จัดตรวจร่างกาย บริเวณทางเข้าห้องขายทอดตลาด/จัดที่นั่งมีระยะห่าง 1-2 เมตร /จัดการขายทอดตลาดทีละชุด แล้วทำความสะอาดห้องก่อนขายในชุดต่อไป
นายสมศักดิ์ ระบุอีกว่า การเปิดประมูลทรัพย์ ในรอบเดือนมิถุนายน 2563 นี้ จะมีทรัพย์ประเภท ที่ดินว่างเปล่า / ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง /ห้องชุด /และทรัพย์สินอื่นๆ ในส่วนภูมิภาคทั่วประเทศ จะมีการประมูลทรัพย์สินทั้งสิ้น 9,874 รายการ ราคาประเมินรวม 14,267,227,735.19 ล้านบาท ในส่วนของกรุงเทพฯ มีการประมูลทรัพย์สินทั้งสิ้น 1,094 รายการ มูลค่า 3,834,159,310.84 ล้านบาท รวมการประมูลทรัพย์สินครั้งนี้ คาดการณ์ว่าจะหาเงินให้ประเทศได้ถึง 18,101,387,046.03 ล้านบาท คาดการณ์ว่าจะมีเงินค่าธรรมเนียมที่ได้จากการขายทอดตลาด (ร้อยละ 3 ของจำนวนเงินที่ขายได้) เพื่อนำส่งเป็นรายได้แผ่นดิน กว่า 500 ล้านบาท โอกาสนี้ตนจึงอยากเชิญชวนพี่น้องประชาชนที่สนใจสามารถเข้าร่วมการประมูลทรัพย์ได้เพราะมาตรการต่างๆในเรื่องการป้องกันเชื้อโควิด-19เราวางอย่างมีมาตรฐาน
นายสมศักดิ์ ระบุต่อว่า ตนได้กำชับกรมบังคับคดีเร่งอธิบายการช่วยเหลือ วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ SMEs ที่ประสบปัญหาทางการเงิน กรณีบุคคลธรรมดาต้องมีจำนวนหนี้ไม่น้อยกว่า 2 ล้านบาท คณะบุคคล ห้างหุ้นส่วนสามัญไม่จดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล ห้างหุ้นส่วนจำกัด หรือนิติบุคคลตามกฎหมายอื่น มีจำนวนหนี้ไม่น้อยกว่า 3 ล้านบาท ส่วนบริษัทจำกัด ต้องมีจำนวนหนี้ไม่น้อยกว่า 3 ล้านบาทแต่ไม่ถึง 10 ล้านบาท และไม่สามารถชำระหนี้ได้ทัน สามารถยื่นขอทำการฟื้นฟูกิจการ เพื่อที่จะไม่ต้องล้มละลาย โดยหากศาลสั่งรับคำฟ้องขอฟื้นฟูกิจการแล้วภาระการชำระหนี้และดอกเบี้ยจะถูกหยุดไว้ และหากศาลมีคำสั่งฟื้นฟูกิจการและเห็นชอบด้วย แผน ผู้บริหารที่ระบุไว้จะดำเนินการฟื้นฟู ภายในระยะเวลาที่กำหนดไว้ในแผน แต่ไม่เกิน 3 ปี โดยผู้ประกอบการ SMEs ที่มีความประสงค์จะยื่นเรื่องขอฟื้นฟูกิจการ สามารถประสานกรมบังคับคดีได้ที่ 1111 กด 79 หรือ www.led.go.th